ล่วงเลยมากว่า 5 ปี หลังจากพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ แต่ในส่วนของธุรกิจเช่าซื้อและธุรกิจลิสซิ่ง ยังต้องรอคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ กำหนดราคากลางในการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อใช้ปฏิบัติ แม้ล่าสุดจะมีการหารือระหว่างผู้แทนจากสมาคมเช่าซื้อไทยและสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ สำหรับกลุ่มเช่าซื้อและจำนำทะเบียน แต่ก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ตรงกัน
ธปท.เคาะ100บาท
ทั้งนี้เนื่องจากธปท.และสศค.ได้เสนออัตราค่าติดตามทวงถามหนี้ที่ 100 บาท และค่าลงพื้นที่ 500 บาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแตกต่างจากข้อเสนอของสมาชิกของทั้งสองสมาคม ดังนั้นในการประชุมวันดังกล่าวทางประธาน สมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทย จึงได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาบนความสมเหตุสมผลด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่เอาต์ซอร์สต้องเป็นผู้รับมอบหมายให้ติดตามทวงถามหนี้แทน
นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานกรรมการสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยเปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” หลังจากการหารือกับธปท.ได้รายละเอียดเกือบครบแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนที่ธปท.รอคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ตามพรบ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558(คกก.) ขออนุมัติก่อน ประกอบกับในส่วนของสมาคมธุรกิจเช่าซื้อไทยได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมในการพิจารณารอบนี้ด้วย ซึ่งกระบวน การพิจารณานั้น ธปท.น่าจะนำเสนอคกก.ประมาณเดือนสิงหาคม2563 หากคกก.พิจารณาอนุมัติ ก็สามารถบังคับใช้ในเดือนตุลาคมปีนี้
ลุ้น2เดือนคกก.เคาะ
แหล่งข่าวระบุว่า กระบวนการพิจารณาของคกก.น่าจะใช้เวลา 1-2 เดือน ซึ่งเมื่อคกก.อนุมัติก็สามารถบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2563 แต่ไม่สามารถอ้างอิงตัวเลขตามที่ธปท.เสนอได้ เพราะยอมรับว่า เป็นตัวเลขที่น้อย ไม่เป็นธรรม และไม่สมเหตุสมผล เพราะเป็นตัวเลขที่เป็นไปไม่ได้จริง ซึ่งจะทำให้การว่าจ้างบริษัทภายนอกหรือ เอาต์ซอร์ส มาทำหน้าที่ติดตามทวงถามหนี้ทำงานยากขึ้น ไม่สามารถจะติดตามทวงถามหนี้สำเร็จ
ทั้งนี้การลงพื้นที่เพื่อไปพบลูกค้าที่บ้านนั้น มีต้นทุนสูงและใช้พนักงานมากกว่า 1 คน และลูกค้า 1 คนต้องส่งพนักงานติดตามทวงถามหลายครั้ง เพราะไม่ใช่ไปเพียงครั้งเดี่ยวแล้วจะได้พบตัวลูกค้า ส่วนใหญ่ลูกค้าที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้ต้องส่งพนักงานเอาต์ซอร์สลงพื้นที่ เพราะติดต่อลูกค้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีไม่รับโทรศัพท์ หรือกดสายทิ้ง หรือเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ เหล่านี้ทำให้เจ้าหนี้มีต้นทุนค่อนข้างแพง
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมกับธปท.เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง แต่คุยกันไม่รู้เรื่อง เพราะจุดยืนต่างกัน เราอยากให้ทางการเปิดใจรับฟังประเด็นคือ การผิดนัดชำระ เพราะไม่มีเงิน ไฟแนนซ์เจ้าหนี้ทำอะไรไม่ได้อยู่แล้ว นอกจากทำใจและรอเวลา แต่ลูกหนี้รายที่ไม่รับโทรศัพท์ เปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ เจตนาไม่รับสาย จึงไม่เข้าใจว่า ทำไมภาครัฐจะมาอุ้มคนที่ไม่ปฏิบัติตามสัญญา
“หากอัตราค่าติดตามทวงถามหนี้ตามที่ธปท.เสนอออกประกาศมาใช้จริง จะยิ่งจะทำให้เกิดการผิดวินัยทางการเงินในวงกว้าง แล้วถามว่าเป็นธรรมกับลูกหนี้คนที่เคารพกติกาและปฎิบัติตามสัญญาหรือ”
ทั้งที่ในการประชุมร่วมกันก่อนหน้าเมื่อ 21 พฤษภาคม 2563 ที่ประชุมเสนอให้คกก.พิจารณาทบทวนประกาศให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยขอให้แยกอัตราค่าทวงถามหนี้ สำหรับสินเชื่อเช่าซื้อและจำนำทะเบียน เนื่องจากมีลักษณะการทวงถามหนี้และต้นทุนที่แตกต่างจากสินเชื่อประเภทอื่น และสศค.ได้ขอข้อมูลเพื่อจัดทำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องสำหรับประกอบการพิจารณาการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมแล้วนั้น
เป็นธรรมกับลูกหนี้
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวอีกรายกล่าวว่าอัตราที่ธปท.เสนอนั้นเป็นธรรมกับลูกหนี้ เพราะหลักการธปท.ต้องใช้กับหนี้ประเภทอื่นๆ แต่อยากให้แยกประเภทสินค้าที่ชัดเจน ระหว่างสินเชื่อกลุ่มเช่าซื้อ หรือลิสซิ่ง เพราะการจะกำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่มีความแตกต่างทั้งมูลหนี้และประเภทสินค้า เช่น รถยนต์ กับ เครื่องกรองนํ้า หรือ รถยนต์กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ตู้เย็น ทีวี เตารีด ซึ่งค่าผ่อนชำระต่องวดหลักร้อยหรือหลักพันบาท แต่ในส่วนของรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งมีค่างวดต้องผ่อนชำระหลักหมื่นหรือเกือบ 1 แสนบาทต่อเดือน ให้เป็นอัตราเดียวกันจะไม่สมเหตุสมผล
“ธปท.มองว่า ลักษณะการติดตามทวงถามนี้เท่ากัน จึงเสนออัตราออกมาค่อนข้างตํ่า ซึ่งตามอัตราที่ธปท.เสนอนั้น สถาบันการเงินหรือไฟแนนซ์เจ้าหนี้ ต้องซัพพอร์ตให้บริษัทรับจ้างทวงถามหนี้ ซึ่งทั้งอุตสาหกรรมย่อมถูกกระทบ เพราะอัตราที่ออกมาตํ่าเกินไปก็ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จึงอยากให้ทางการพิจารณาความเป็นจริงว่ามูลหนี้และประเภทสินค้าหรือคุณภาพลูกหนี้ ซึ่งมีความแตกต่างกัน”
ทวงหนี้พุ่ง35,000บาท
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่ประกาศบนเว็บไซต์ของธปท.เกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมเปรียบเทียบของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ณ วันที่ 29 กรกฎาคม 2563 พบว่า ค่าติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารพาณิชย์ที่มีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ จะคิดตั้งแต่ 200 บาทต่อสัญญาไปจนถึง 35,000 บาท ขึ้นกับชนิดของรถยนต์ โดยธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จะคิด 200 บาท/สัญญาเมื่อผิดนัดหนึ่งงวด และงวดที่ 2 จะคิด 300 บาท/สัญญา ธนาคาร ทิสโก้จะคิด 321 บาทต่องวด
ส่วนไทยพาณิชย์ กรณีที่ยังไม่บอกเลิกสัญญา จะคิด 321-535 บาท/งวด แต่ถ้าบอกเลิกสัญญา จะคิดค่าใช้จ่าย 1,500 -16,000 บาท ธนชาตจะคิดขั้นต่ำ 400 บาท สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ธนาคารแลนด์แอนเฮ้าส์จะคิด 200 บาทต่อครั้ง และเกียรตินาคิน จะคิดกรณีที่ค้างชำระเกินกว่า 3 งวด ถ้าเป็นรถยนต์ทุกประเภท ยกเว้นข้อ 2 จะคิดค่าที่ 1,000 -12,000 บาท/งวด และรถบรรทุกและรถมีใบอนุญาตประกอบการ จะคิดตั้งแต่ 3,500 - 35,000 บาท/งวด ส่วนที่เหลือจะไม่มีการคิดค่าบริการติดตามทวงถามหนี้