เปิดพอร์ตหุ้น “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” 2.7 พันล้านบาท

13 มิ.ย. 2564 | 10:16 น.

เปิดพอร์ต “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” ถือหุ้นใหญ่ผ่าน 6 บจ. มูลค่ารวม 2,757 ล้านบาท พบเคยถูกก.ล.ต.สั่งเปรียบเทียบปี 2550 จำนวน 4 กรณี รวม 3.8 ล้านบาท

เป็นที่น่าสนใจไม่น้อย เมื่อปรากฏชื่อ “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานบริหาร บริษัท ซัมมิทฟุตแวร์ จำกัดเป็นผู้ซื้อลิขสิทธิ์ “ยูโร 2020” มาให้คนไทยได้ดูกันฟรีๆ หลังจากเจรจาและปิดดีลภายใน 1 วัน ด้วยมูลค่า310 ล้านบาท นอกจากจะเป็นพี่น้องตระกูลจึงรุ่งเรืองกิจแล้ว ยังเป็นบิดา “พงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ” ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ รวมถึงผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อีกด้วย

รายงานข่าวจากตลท. เปิดเผยว่า จากข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ล่าสุด พบ “โกมล จึงรุ่งเรืองกิจ” ถือหุ้นใหญ่ในบจ.จำนวน 6 แห่ง คือ บริษัท ไอร่า แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (AIRA) จำนวน 304,169,101 หุ้น หรือ4.82%, บริษัท อกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (APURE) จำนวน 316,730,130 หุ้น หรือ 33.05%, บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) (BWG) จำนวน 242,286,900 หุ้น หรือ 5.84%, บริษัท เอิร์ธเท็ค เอนไวรอนเมนท์ จำกัด (มหาชน) (ETC) จำนวน 12,801,400 หุ้น หรือ 0.57%, บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) (GRAMMY) จำนวน 22,720,000 หุ้น หรือ 2.77% และบริษัท ยู ซิตี้ จำกัด (มหาชน) (U) จำนวน 99,569,427 หุ้น หรือ 1.77%

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับราคาปิดของหุ้น ณ วันที่ 11 มิถุนายน 2564 พบว่าการถือหุ้น AIRA มีมูลค่าอยู่ที่ 632,671,730.08 บาท, APURE อยู่ที่ 1,431,620,187.60 บาท, BWG อยู่ที่ 193,829,520 บาท, ETC อยู่ที่40,196,396 บาท, GRAMMY อยู่ที่ 349,888,000 บาท และ U อยู่ที่ 109,526,369.70 บาท รวมมูลค่าที่ถือครองทั้งหมดอยู่ที่ 2,757,732,203.38 บาท

นอกจากนี้ ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อปี 2550 พบว่าไตรมาส 3 ปี 2550 มีคำสั่งเปรียบเทียบนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ จำนวน 4 กรณี มูลค่ารวม 3.8 ล้านบาทกรณีมิได้รายงานการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์ทุกร้อยละห้าของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการที่ถือผ่านบุคคลอื่น ตามแบบ 246-2 ต่อสำนักงานภายในเวลาที่กำหนด ใน 3 บริษัท 

บริษัทปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (PICNI) จำนวน 2 รายการ วันที่ 16 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 มูลค่าเปรียบเทียบ 321,000 บาท, บริษัทอกริเพียว โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (APURE) ระหว่างวันที่ 5 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2549 จำนวน 9 รายการ มูลค่าเปรียบเทียบปรับจำนวน1.19 ล้านบาท และบริษัทอีสเทิร์นไวร์ จำกัด (มหาชน) (EWC) รายงานการได้มาหลักทรัพย์ในเวลาที่กำหนดและไม่นำหุ้นที่ถือโดยบุคคลตามมาตรา 258 ของตนมารวมรายงาน จำนวน 7 ราย ระหว่างวันที่ 2 กันยายน 2548 ถึงวันที่ 28 ธันวาคม 2549 มูลค่าเปรียบเทียบปรับจำนวน 1.82 ล้านบาท

ทั้งนี้ การได้มาซึ่งหุ้น EWC เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2549 จนเป็นผลให้เมื่อรวมหุ้นทั้งหมดที่ถืออยู่โดยตรงถือโดยบุคคลตามมาตรา 258 และถือผ่านบุคคลอื่นแล้ว ทำให้นายโกมลเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ EWC ข้ามจุดร้อยละ 25 ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด ไม่ได้ยื่นประกาศเจตนาในการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามแบบ 247-3 และไม่ได้จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของกิจการตามแบบ 247-4 ภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนด

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2549 นายโกมลได้ลดสัดส่วนการถือหุ้น EWC เหลือร้อยละ 24.36 ซึ่งทำให้หน้าที่ของนายโกมลในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. กำหนดตามมาตรา 247 ได้สิ้นสุดลง ปรับมูลค่า 469,000 บาท