อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 32.86 บาท/ดอลลาร์

14 ก.ย. 2564 | 00:57 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น ทั้งเริ่มมีเสียงเตือนจากฝั่ง ศบค.ระบุอาจมีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือน รวมถึงความวุ่นวายของการเมืองในประเทศ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.86 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.91 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทเริ่มมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ามากขึ้น ทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดในประเทศ ที่เริ่มมีเสียงเตือนจากฝั่ง ศบค. ว่าอาจมีการระบาดระลอกใหม่ในช่วงปลายเดือนได้ รวมถึง ประเด็นความวุ่นวายของการเมืองในประเทศก็อาจกดดันเงินบาทได้เช่นกันในระยะสั้น อย่างไรก็ดี เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 32.90-33.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น

 

ทั้งนี้ ประเด็นข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ทั้ง อัตราเงินเฟ้อ ยอดค้าปลีก ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์มีแนวโน้มผันผวนและกลับมาแข็งค่าได้ หากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และทำให้ผู้เล่นในตลาดมองว่า เฟดอาจมีการขยับไทม์ไลน์ลดคิวอีเร็วขึ้น หรือ ลดคิวอีในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งแรงกดดันจากเงินดอลลาร์อาจทำให้ เงินบาทยังไม่สามารถกลับไปแข็งค่าอย่างชัดเจนได้ในระยะสั้น

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.80-32.95 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมเริ่มกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในฝั่งตลาด Developed Markets (DM) หลังจากในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินในฝั่ง DM ต่างเผชิญแรงเทขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ดี ผู้เล่นในตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เพราะต่างรอคอยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาทิ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) และ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ที่อาจส่งผลกระทบต่อคาดการณ์ของผู้เล่นในตลาดถึงช่วงเวลาหรือขนาดการปรับลดคิวอีของเฟด

 

 

ฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones ปรับตัวขึ้นราว +0.76% ส่วน ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.23% ตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยรวมได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้น หลัง OPEC ประเมินว่าความต้องการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและอยู่ในระดับสูงกว่ากำลังการผลิตไปอย่างน้อยอีก 1 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ การฟื้นกำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ อาจเผชิญปัญหาใหม่จากพายุโซนร้อน Nicholas ที่อาจทวีความรุนแรงเป็นเฮอริเคน  ทั้งนี้ บรรดาผู้เล่นในตลาดสหรัฐฯ จะรอจับตาประเด็นการปรับลดการอัดฉีดสภาพคล่อง (คิวอี) ของ เฟด จากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

ทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ปรับตัวขึ้นราว +0.46% หลังผู้เล่นในตลาดไม่ได้กังวลต่อแนวโน้มการ “ปรับลด” ปริมาณการซื้อสินทรัพย์เล็กน้อยในโครงการ PEPP (Pandemic Emergency Purchase Program) ของ ECB โดยผู้เล่นในตลาดต่างให้ความสนใจแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปที่มีโอกาสกลับมาขยายตัวได้แข็งแกร่งในปีนี้และปีหน้า หนุนให้ หุ้นในธีม Cyclical ยังเดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อ อาทิ หุ้นกลุ่มยานยนต์ Daimler +4.1%, BMW +3.3% รวมถึงหุ้นกลุ่มการเงิน Santander และ BNP Paribas +2.3%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงเล็กน้อย 1bps สู่ระดับ 1.33% เพราะแม้ว่าตลาดการเงินโดยรวมดูเหมือนจะอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง แต่ผู้เล่นบางส่วนก็ยังคงมีมุมมองระมัดระวัง เนื่องจากสัปดาห์นี้จะมีการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ อย่าง เงินเฟ้อ และยอดค้าปลีก รวมถึง วันศุกร์จะเป็นวันที่สัญญาตราสารอนุพันธ์ในตลาดจะหมดอายุ ทำให้ตลาดอาจมีความผันผวนสูงขึ้นได้

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 92.62 จุด หลังจากแตะจุดสูงสุดใกล้ระดับ 92.90 จุด โดยการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังคงมีโมเมนตัมหนุนอยู่ หากรายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 5.3% กดดันให้ตลาดมองว่า เฟดอาจมีการปรับเปลี่ยนไทม์ไลน์การลดคิวอี หรือ ขนาดการลดคิวอี

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเฟดในการทยอยปรับลดคิวอี โดยเฉพาะ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เนื่องจากปัญหา ณ ปัจจุบันของเศรษฐกิจสหรัฐฯ คือ ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนสิงหาคม จะสูงถึง 5.3%y/y หนุนโดยค่าใช้จ่ายในธีม Reopening รวมถึงการกลับไปทำงานและใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้นของชาวอเมริกัน ซึ่งต้องติดตามว่า เฟดยังคงมีมุมมองว่า เงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงเพียงชั่วคราว (Transitory) ต่อไปหรือไม่

 

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.84-32.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยตามภาพรวมของเงินหยวน และสกุลเงินเอเชียอื่นๆ หลังแรงหนุนของเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน ขณะที่ตลาดรอติดตามตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในคืนนี้  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 32.75-32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ กระแสเงินลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดของไทย และตัวเลขเงินเฟ้อที่วัดจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนส.ค. ของสหรัฐฯ (ผลสำรวจของนักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 5.3%)