คปภ.รุกคืบกล่าวโทษผู้บริหาร หลังคลัง สั่ง ปิด “อาคเนย์-ไทยประกันภัย”

01 เม.ย. 2565 | 11:01 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ย. 2565 | 13:29 น.

คปภ.ขึงขัง!!ตั้งกรรมการสอบเอาผิดผู้บริหารอีก 3 กรณี “ประวิงจ่ายเคลมสินไหม-บันทึกรายการไม่ถูกต้อง- โอนกรมธรรม์ประกันภัยอื่นก่อนนายทะเบียนมีคำสั่ง” -หลังคลัง สั่ง ปิด “อาคเนย์-ไทยประกันภัย”มีผล 1 เม.ย.65

ตามที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ)มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 670/2565 และคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 671/2565 ลงวันที่ 1 เมษายน 2565 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย

บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไปนั้น

 

คปภ.รุกคืบกล่าวโทษผู้บริหาร  หลังคลัง สั่ง  ปิด “อาคเนย์-ไทยประกันภัย”

 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า  ในส่วนของสำนักงานคปภ. จะดำเนินการกับทั้ง 2 บริษัททั้งเรื่องประวิงการจ่ายหรือบันทึกเคลมสินไหมไม่ถูกต้อง ตั้งเงินสำรองไม่ครบถ้วน

 

ทางสำนักงานคปภได้นำเข้ากรรมการเปรียบเทียบปรับ และร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพื่อสอบสวนกรรมผู้มีอำนาจของบริษัทรายใดบ้างที่กระทำการเข้าข่าย การกระทำความผิดตามกฎหมาย 

 

นอกจากนั้น จัดทีมพิเศษที่เป็นSpecial Audit  ตรวจสอบความถูกต้องกรณีที่มีการโอนกรรมธรรม์  ไปยังบริษัทประกันภัยอื่นในช่วง  ก่อนที่นายทะเบียนจะมีคำสั่งตามมาตรา 52 ของพ.ร.บประกันฯ   ซึ่งในประเด็นนี้หากไม่ถูกต้องก็จะมีการบริหารจัดการเพื่อจะให้ เงินดังกล่าวกลับสู่ “กองทุนประกันวินาศภัย”

“ สำนักงานคปภ.จะดำเนินการใน 3 เรื่องคือ ตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการต่อกรรมการและหรือผู้บริหารของบริษัทกระทำความผิดต่อผู้บริโภคหรือไม่  ,ดำเนินการเปรียบเทียบปรับกรณีบริษัทบันทึกรายการเรียกร้องคต่าสินไหมทดแทนในสมุดทะเบียนหรือสมุดบัญชีไม่ถูกต้องและครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด และตั้งทีมตรวจสอบพิเศษหรือSpecial Audit เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกรณีบริษัทมีการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น”

ต่อข้อถามเรื่อง “ฐานะของกองทุนประกันวินาศภัย” นั้น  เลขาธิการคปภ.กล่าวว่า  ตามที่ได้รับรายงาน ปัจจุบันสถานะกองทุนประกันวินาศภัยมีเงินสภาพคล่องประมาณ 5,000-7,000ล้านบาท  ซึ่งจะมีหารประชุมหารือกับทีมงานกองทุนฯเพื่อพิจารณาหาสภาพคล่องหรือกู้เงินมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้

 

เบื้องต้นมีการหารือสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) ซึ่งแนวทางนี้จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่แหล่งที่มาของเงินกองทุนฯสามารถมาได้จากหลายแหล่ง  เช่น กู้บริการกลางฯหรือ ธนาคารออมสิน ซึ่งเงินกู้ดังกล่าวนี้ นอกเหนือจากที่คณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัยได้มีการพิจารณามูลหนี้ , เงินสำรอง  และอสังหาริมทรัพย์

 

เพราะก่อนหน้านี้ ทางบมจ.อาคเนย์มีความประสงค์จะขายเพื่อนำเงินมาชำระเจ้าหนี้แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งทางกองทุนฯในฐานะผู้ชำระบัญชีจะเข้าไปรวบรวมอสังหาริทรัพย์ออกขายเพื่อนำเงินชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ต่อไป