แชมป์ยอดขายตลาดเอสยูวีเมืองไทย 3 ปีซ้อน (ปี2558-2560) คงการันตี คุณภาพ สมรรถนะ และตอกยํ้าความสำเร็จให้ทีมงานวางแผนโปรดักต์ของฮอนด้าได้เป็นอย่างดี
ฮอนด้าเลือกเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร และวางตำแหน่งให้ “เอชอาร์-วี” อยู่กลุ่มบีเอสยูวีระดับบนในเมืองไทยราคาขาย 9 แสน - 1.1 ล้านบาท ตํ่ากว่า “ซีอาร์-วี” ที่โฉมใหม่เพิ่งถูกขยายบทบาทให้ไปท้าชนกับกลุ่มพีพีวี ด้วยขนาดตัวถังที่ใหญ่ขึ้น พร้อมเบาะ 3 แถว 7 ที่นั่ง และมีทางเลือกเครื่องยนต์ดีเซล ส่วนบีเอสยูวีระดับเริ่มต้นให้เป็นหน้าที่ของ “บีอาร์-วี” เก็บกวาดไป
บีเอสยูวี ซับคอมแพ็กต์เอสยูวี หรือครอสโอเวอร์ แล้วแต่ใครจะเล่นคำไหนในการสื่อสาร ซึ่ง “เอชอาร์-วี” ที่เพิ่งไมเนอร์เชนจ์ก็ต้องเจอกับคู่แข่งในกลุ่มนี้ทั้งบิ๊กเนมอย่าง โตโยต้า ซี-เอชอาร์ และมาสด้า ซีเอ็กซ์-3 (เพิ่งไมเนอร์เชนจ์เช่นกัน)
สำหรับฮอนด้า เอชอาร์-วี ไมเนอร์เชนจ์ แบ่งขาย 3 รุ่นย่อยเหมือนเดิม แต่ถอดรุ่นล่าง S ออกไป (เคยขาย 8.9 แสนบาท) และเริ่มต้นใหม่ที่เกรด E ราคา 9.49 แสนบาท(ราคาขึ้น 16,000 บาท) รุ่น EL ราคา 1.059 แสนบาท (ราคาขึ้น 9,000 บาท) พร้อมเพิ่มรุ่น RS ราคา 1.119 ล้านบาท
ผมได้รุ่นท็อป RS มาลองขับครับ เห็นการเปลี่ยนแปลงทั้ง กันชนหน้า กระจังหน้า รายละเอียดในโคมไฟหน้าและหลัง ไฟตัดหมอกที่ใช้หลอด LED เล่นลวดลายใหม่ ตลอดจนล้ออัลลอย 17 นิ้วลายใหม่
ส่วนฟังก์ชันที่ฮอนด้าเพิ่มเข้ามา คือระบบแสดงภาพมุมอับสายตาขณะเปลี่ยนเลน (Honda Lane Watch) เหมือนที่ใส่มาก่อนใน “แอคคอร์ด” และ “ซีวิค” รวมถึงระบบเตือนและช่วยเบรกที่ความเร็วตํ่า (City Brake Active System) และระบบล็อกรถอัตโนมัติเมื่อกุญแจรีโมตอยู่ห่างจากตัวรถ (Walk Away Auto Lock)
ขณะที่ขุมพลังและช่วงล่างไม่ได้ปรับเซตใหม่ กับเครื่อง ยนต์เบนซิน 4 สูบ 1.8 ลิตร 141 แรงม้า ส่งกำลังลงสู่ล้อคู่หน้าด้วยเกียร์อัตโนมัติอัตราทดแปรผันต่อเนื่อง CVT ที่ยังตอบสนองได้ยอดเยี่ยมมากๆ
“เอชอาร์-วี” ถือเป็นเอสยูวีที่ใช้เกียร์ CVT แล้วขับได้จี๊ดจ๊าด ไม่เหยาะแหยะน่ารำคาญกับลักษณะการทำงานของพูเล่และสายพานในแบบเดิมๆ โดยจังหวะเติมคันเร่งทำได้เนียนๆ และถ้าจะมีลักษณะการลากรอบยาวๆบ้างก็ลองผ่อนและเดินคันเร่งให้เหมาะสม ซึ่งเครื่องยนต์บล็อกนี้สมรรถนะออกแนวรอบจัดซัดสนุกอยู่แล้ว
“เอชอาร์-วี” ยังเป็นรถขับสนุกในช่วงความเร็วปลายๆ แรงดี พลังพุ่งต่อเนื่อง ส่วนการควบคุมผ่านพวงมาลัยแบบแรคแอนด์พีเนียนผ่อนแรงด้วยระบบไฟฟ้า ฮอนด้าเซตมาแบบสปอร์ตใช้ได้ นํ้าหนักหน่วงๆแต่การตอบสนองแม่นยำตามความคิด และให้ความมั่นใจเมื่อขับความเร็วสูง อันสอดคล้องมากับการเกาะถนนที่ผมประทับใจตั้งแต่การลองขับครั้งแรกเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับซี-เอชอาร์ รุ่นเครื่องยนต์ 1.8 ลิตร ในเรื่องช่วงล่าง การทรงตัว และการควบคุม ค่อนข้างสูสี ขับคันไหนก็มั่นใจคันนั้นครับ แต่ถ้าจะให้ฟันธงผมแอบชอบบุคลิกเอสยูวีจากโตโยต้ามากกว่านิดๆ
ด้านอัตราบริโภคนํ้ามันเฉลี่ยของ“เอชอาร์-วี”ตามอีโคสติกเกอร์แจ้งไว้ 15.87 กม./ลิตร(โตโยต้า ซี-เอชอาร์1.8 แจ้งไว้ 15.38 กม./ลิตร) ส่วนการขับจริงในภาวะการจราจรหนาแน่นในเมืองและทางไกลความเร็วสูงเห็นตัวเลขแถวๆ 11-12 กม./ลิตร
รวบรัดตัดความ...ในยุคที่ตลาดบีเอสยูวีกำลังแข่งขันกันฝุ่นตลบ “เอชอาร์-วี ไมเนอร์เชนจ์” หวังขาย 1,500 คันต่อเดือน ด้วยความสมดุลของสมรรถนะภายใต้แบรนด์ฮอนด้าที่แข็งโป๊ก ที่สำคัญไม่ต้องสื่อสารกันเยอะให้เจ็บคอเพราะมีเครื่องยนต์แบบเดียว ดังนั้นเหลือแค่ขายให้เก่ง ชวนลูกค้าเลือกรุ่นย่อยตามออพชันและความหล่อที่ต้องการ ซึ่งผมเชื่อว่าเป้าหมายที่ฮอนด้าวางไว้จะทำได้ไม่ยาก ส่วนค่ายไหน(คู่แข่ง) ชอบตั้งตัวเลขการขายสูงๆ หรือเคยประกาศในช่วงเปิดตัวรถใหม่ๆแล้วทำไม่ได้ตามเป้า มันน่าอายนะครับ
หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,397 วันที่ 2 - 5 กันยายน พ.ศ. 2561