ปิกอัพพื้นกระบะเรียบ สมัยก่อนแข่งกันเยอะครับหรือย้อนไปไม่นานเห็นมี เกีย เค2700, ทาทาซูเปอร์ เอซ, ตงฟง หรือ ดีเอฟเอ็ม และพวกแบรนด์จีนอื่นๆที่มาแบบตีหัวเข้าบ้าน แต่ที่ยืนหยัดขายจริงทำตลาดจริงอย่าง “ซูซูกิ แคร์รี่” เพิ่งเปิดตัวโฉมใหม่ เจเนอเรชันที่ 2 โดยเมืองไทยยังนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียเหมือนเดิม
สำหรับ “แคร์รี่” เปิดตัวครั้งแรกปี 2519 ทำตลาดใน 145 ประเทศทั่วโลก มียอดขายสะสมกว่า1,970,000 คัน ส่วนเมืองไทยเปิดตัวปี 2549 ปัจจุบันขายเกิน 50,000 คัน ส่วนโฉมใหม่เปิดตัวเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ราคา 3.85 แสนบาท
ปิกอัพแบบนี้ไม่เน้นสมรรถนะครับ เอาแบบพอขับได้โหลดนํ้าหนักได้ประมาณหนึ่ง แต่โฉมใหม่ของ “แคร์รี่” ที่ปรับโครงสร้าง และระบบขับเคลื่อน รวมถึงเพิ่มความสะดวกสบายภายในห้องโดยสาร ยังเคลมว่า มีความสามารถในการบรรทุกถึง 945กก. เพิ่มจากรุ่นเดิม 10 กก.
ด้วยตัวถังที่ยาวและกว้างขึ้น 40 มม. 85 มม. ตามลำดับ แต่เตี้ยลง 5 มม. เป็นยาว 4,195 มม. กว้าง 1,765 มม. และสูง 1,910 มม. ส่วนพื้นที่กระบะท้ายเพิ่มความจุขึ้นอีก 15% พร้อมด้านข้างเปิดได้ 3 ฝั่ง สะดวกในการโหลดสินค้าทั้งแบบแรงงานคนยกขึ้น-ลง และการใช้รถฟอร์กลิฟต์
ช่วงล่างหน้าแบบแมกเฟอร์สันสตรัตปรับใหม่ทั้ง ปีกนกที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงโช้กอัพและสปริง ด้านหลังเป็นแหนบแผ่นซ้อน 5 ชั้น วางเหนือเพลา และเพิ่มขนาดของคานหลังให้ใหญ่ขึ้น ส่วนล้อกระทะลดขนาดลงมาเป็น 13 นิ้ว ประกบยาง165/80R13 จากเดิมใช้ล้อ 14 นิ้ว หน้ายาง 185 แสดงว่าไม่เน้นสมรรถนะจริงๆ แต่ยังห่วงเรื่องอัตราบริโภคนํ้ามัน และได้ข้อดีเรื่องรัศมีวงเลี้ยวแคบสุด 4.4 เมตร
ผมลองขับจริงในเส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา ระยะทางประมาณ 100 กม.(แต่สลับกันขับกับนักข่าวอีก 1 ท่าน) การทดสอบมีโหลดของในกระบะท้ายถ่วงนํ้าหนักอีก 100 กิโลกรัม ช่วยลดอาการดีดตัวด้านหลังในช่วงขึ้นลง-คอสะพาน ได้พอสมควร
การขับความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. รถไปของเขาได้เรื่อยๆครับ แต่ไม่น่าเชื่อในช่วงความเร็วสูงขึ้นเป็น 100-120 กม./ชม. ถ้าถือพวงมาลัยนิ่งๆ อาการของรถก็ไม่ได้หวือหวาหวาดเสียวอะไร
ผมยังชอบสมรรถนะจากเครื่องยนต์เบนซิน K15B ขนาด 1.5 ลิตร (บล็อกเดียวกับที่วางในเอ็มพีวี เออร์ติก้า) โดยซูซูกิ เน้นเรื่องความประหยัดนํ้ามัน และปล่อยไอเสียน้อยลง(รองรับแก๊สโซฮอล์ E20) แล้วถ้าเทียบกับของเดิมที่เป็นเครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร พบว่าของใหม่ยังให้กำลังดีขึ้นเป็น 97 แรงม้า(เดิม92 แรงม้า) แรงบิด 135 นิวตัน-เมตร(เดิม 127 นิวตัน-เมตร)ด้านอัตราบริโภคนํ้ามันเฉลี่ย ซูซูกิเคลมไว้ 13.3 กม./ลิตร
เมื่อประกบเกียร์ธรรมดา 5 สปีด ที่ปรับอัตราทดเฟืองท้ายให้จัดขึ้นเป็น 4.875 (เดิม 4.3) ถ้าไม่มีสัมภาระหนักด้านท้าย แคร์รี่ โฉมใหม่ ขับฉลุยแรงดีพอสมควร ด้วยจังหวะเปลี่ยนเกียร์แม่นยำ นํ้าหนักและการจับของคลัตช์กำลังพอเหมาะ ช่วยให้การขับขี่ราบรื่น และเป็นไปได้ตามใจต้องการ เพียงแต่ไม่ถูกใจที่ไม่มีการแสดงผลแบบวัดรอบให้เห็น(และเชื่อว่ารอบน่าจะสูงพอสมควร)
เรี่ยวแรงดูดี แต่ช่วงล่างอาจจะไม่รู้สึกว่าหนึบแน่นสมดุลแบบปิกอัพ 1 ตันแบรนด์ญี่ปุ่นทั่วไป เน้นขับแบบใช้งานจริงวิ่งไม่เร็ว ด้านพวงมาลัยใช้งานในเมืองควบคุมได้คล่องแคล่ว เพราะเป็นแบบแร๊กแอนด์พิเนียนผ่อนแรงด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า(เดิมไฮดรอลิก)
ภายในห้องโดยสารของไม่ได้หรูหราอะไร แต่มีเครื่องปรับอากาศและชุดเครื่องเสียง “ไพโอเนียร์” ติดตั้งมาจากโรงงาน ขณะเดียวกันตัวหัวเก๋งขนาดใหญ่ขึ้นด้วยเมื่อเทียบกับรุ่นเดิม เบาะนั่งสามารถเลื่อนหน้าถอยหลังได้เล็กน้อย ให้เหมาะกับสรีระเวลาขับ ส่วนตำแหน่งเกียร์ย้ายมาอยู่ตรงคอนโซลหน้าเหมือนรถตู้ทั่วไป ช่วยเพิ่มพื้นที่ตรงกลางห้องโดยสารให้ขยับขยายได้มากขึ้น
อีกจุดที่ต้องชมคือ ปิกอัพแบบนี้หลายคันรวมถึง “แคร์รี่ โฉมเก่า” นั่งแล้วขาจะติดซุ้มล้อคู่หน้า แต่รุ่นใหม่เปลี่ยนแนวคิดโดยถอยล้อคู่หน้าลงมาจนเกือบจะถึงตำแหน่งเบาะนั่ง ช่วยให้คนขับและผู้โดยสาร นั่งสบายเหยียดขาได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การขับปิกอัพแบบนั่งทับเครื่องยนต์ลักษณะนี้ ต้องทำใจเรื่องเสียงรบกวนที่เข้ามาภายในห้องโดยสาร ทั้งเสียงเครื่อง เสียงลมปะทะจากโครงสร้างของหัวเก๋งแบบพร้อมปะทะลม แต่ในทางกลับกันคุณจะได้ทัศนวิสัยที่ดีมากๆ จากบานกระจกหน้ากว้างและตั้งชัน กระจกด้านข้างใหญ่ ตัวรถสูง มองได้ไกลคาดสถานการณ์ได้ล่วงหน้า ถ้าไม่อยู่ท้ายรถสิบล้อ
รวบรัดตัดความ...ปิกอัพสไตล์พอเพียง เน้นใช้งานเชิงพาณิชย์ ไม่เน้นสมรรถนะ ราคา 3.85 แสนบาท ถือเป็นเพื่อนช่วยทำเงินสร้างเนื้อสร้างตัว สำหรับผู้ประกอบการยุคใหม่ ส่วนใครจะนำไปตีตู้ ตกแต่งเพื่อค้าขาย ซูซูกิมีคนให้คำปรึกษาตามโชว์รูมอยู่แล้ว ที่สำคัญค่าใช้จ่ายในการตกแต่งเพิ่มเติม สามารถนำไปรวมกับราคารถแล้วจัดไฟแนนซ์ ผ่อนพร้อมกันได้เลย
คอลัมน์เทสต์ไดร์ฟ
เรื่อง : กรกิต กสิคุณ
หน้า 28-29 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,501 วันที่ 1-4 กันยายน 2562