สมรภูมิใหม่ค่ายรถยนต์...สู้กันบนฟ้า

10 ก.พ. 2563 | 02:00 น.

 

"ธุรกิจการเดินทาง-ขนส่งบนอากาศ เป็นแผนงานระยะยาว แม้ตอนนี้เรากำลังมุ่งมั่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่การลงทุนในโจบี้ เอวิเอชัน (Joby Aviation) ทำให้เป้าหมายใหม่ ของเราอยู่บนท้องฟ้า" อากิโอะ โตโยดะ ประธาน โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น กล่าว หลังบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในสตาร์ตอัพผลิตอากาศยานสัญชาติสหรัฐอเมริกา

     อากิโอะ โตโยดะ

 

อุตสาหกรรมยานยนต์โลกกำลังเดินเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน ดีลเลอร์ที่เป็นคู่ค้า ล้วนเผชิญการ “ดิสรัปต์” ของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนโฉมธุรกิจ และการใช้ชีวิตของผู้คนไปอย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ทั่วโลกมีประมาณ 90 ล้านคันต่อปี แต่ในอนาคตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังสันดาปภายใน (ICE-Internal Combustion Engine) ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานอาจจะกลายเป็นเพียงกล้องฟิล์มโกดัก, มือถือโนเกียระบบซิมเบียน ที่ตกเทรนด์ และไม่ตอบสนองการใช้งานในสังคมยุคใหม่

ระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ระบบช่วยขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อระหว่างรถกับอินเตอร์เน็ต และคาร์แชริ่ง เป็นสมการธุรกิจแห่งอนาคต ที่สำคัญ 4 เทคโนโลยีเปลี่ยนโลกนี้ กำลังพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด โดยตัวสินค้าและบริการไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่รถยนต์ หรือการเดินทางบนภาคพื้นดินเท่านั้น

ธุรกิจรถยนต์บินได้ หรืออากาศยานส่วนบุคคล ถูกจับตามากขึ้น หลังจากที่บรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เข้าไปร่วมมือกับทั้งกลุ่มสตาร์ตอัพ และยักษ์ใหญ่ในธุรกิจการบินเดิม

หนึ่งข่าวที่อยู่ในความสนใจช่วงต้นปี 2563 คือ โตโยต้าเจียดเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนใน บริษัท โจบี้ เอวิเอชัน จำกัด สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองซานตาครูซ, แคลิฟอร์เนีย และกลายเป็นบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุดทันที

โจบี้ เอวิเอชัน ก่อตั้งเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ตั้งเป้าหมายพัฒนายานพาหนะบินได้ 4 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า แบบขึ้น-ลงแนวดิ่ง Vertical Take-Off and Landing (eVTOL Aircraft) การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้งเดินทางได้ไกล 240 กิโลเมตร ความเร็วสูงสุด 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

สมรภูมิใหม่ค่ายรถยนต์...สู้กันบนฟ้า

แน่นอนว่านี่คือทางลัดของบริษัทขนาดใหญ่ในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่ง โจบี้ เอวิเอชัน มีศักยภาพเต็มที่ในการผลิตอากาศยาน แต่การผลิตในเชิงพาณิชย์ การทำตลาด และการขาย คงต้องใช้องค์ความรู้ที่โตโยต้าสั่งสมมานานกว่า

อย่างไรก็ตาม การผลิตเพื่อขายเป็นอากาศยานส่วนบุคคล อาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริงในระยะเวลาอันใกล้ ด้วยติดข้อกฎหมาย รวมถึงความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ดังนั้นการผลิตเพื่อทำธุรกิจให้บริการสาธารณะ วิ่งในเส้นทางประจำและความสูงที่ควบคุมได้ ดูจะสมเหตุสมผลมากกว่า โดย “โจบี้ เอวิเอชัน” ตั้งเป้าหมายให้บริการแท็กซี่บนฟ้าในปี 2566 พร้อมเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับอูเบอร์ เอาไว้เรียบร้อย

นอกจากโตโยต้าแล้ว บริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเกาหลีใต้อย่าง “ฮุนได” เริ่มขยับเข้าสู่ธุรกิจนี้เช่นกัน ซึ่งในงาน CES 2020 ที่นครลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ร่วมมือกับ “อูเบอร์” เปิดตัวอากาศยานขึ้นลงแนวดิ่ง ภายใต้ชื่อ “อูเบอร์ได” (Uberdai) โดยมุ่งพัฒนาเพื่อให้บริการเป็นแท็กซี่บินได้ ในปี 2566

ยานลำนี้สามารถรองรับผู้โดยสาร 3 คน ทำความเร็วได้สูงสุด 290 กม./ชม. แผนงานเบื้องต้นยังต้องมีกัปตันเป็นผู้ควบคุมเส้นทาง แต่เป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนา “อูเบอร์ได” ให้บินจากจุด A ไป B ด้วยระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ หรือไร้คนขับนั่นเอง

สมรภูมิใหม่ค่ายรถยนต์...สู้กันบนฟ้า

ขณะที่ “โฟล์คสวาเกน” ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี เคยเปิดตัวต้นแบบรถบินได้ ITALDESIGN POP.UP NEXT ช่วงต้นปี 2561 ด้วยการใช้ชื่อสำนักออกแบบ “อิตัลดีไซน์” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ และเทคโนโลยีขับเคลื่อนของ “อาวดี้” และ “แอร์บัส”

ความน่าสนใจของ “อิตัลดีไซน์ ป็อป.อัพ เน็กซ์” คือแบ่งยานพาหนะเป็น 3 สัดส่วน คือ 1.ฐานของรถมี 4 ล้อ ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 2.ส่วนห้องโดยสาร และ 3. ส่วนปีกที่ทำหน้าที่ยกห้องโดยสารให้บินได้

นั่นหมายความว่า การเดินทางบนถนนจะต้องใช้งานส่วนที่ 1 และ 2 ขณะที่การใช้งานบนฟ้าจะเป็นหน้าที่ของส่วนที่ 2 กับ 3 โดยยานพาหนะสุดลํ้ารุ่นนี้ สามารถตอบโจทย์ 4 สมการเปลี่ยนโลกได้ครบ ทั้งระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า ระบบช่วยขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อระหว่างรถกับอินเตอร์เน็ต และคาร์แชริ่ง

ส่วนแบรนด์ในเครือโฟล์คสวาเกนอย่าง “ปอร์เช่” ที่เพิ่งทำตลาดอีวีรุ่นแรกของค่ายคือ “ไทคานน์” (เปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการงานบางกอกมอเตอร์โชว์ 2020) ล่าสุดทำความร่วมมือกับบริษัทผลิตเครื่องบิน “โบอิ้ง” เพื่อพัฒนาอากาศยานขึ้น-ลงแนวดิ่งเช่นกัน

ช่วงปลายปี 2562 ปอร์เช่เซ็นบันทึกความเข้าใจ กับบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์รายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนายานพาหนะบินได้ วางเป้าหมายเพื่อให้บริการลูกค้าระดับพรีเมียมที่ต้องการเดินทางในเมือง ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาได้มาก

นาย Detlev von Platen รองประธานฝ่ายขายและการตลาด ปอร์เช่ เอจี ประเทศเยอรมนี เปิดเผยว่า ดีลนี้เป็นการรวมความแข็งแกร่งระหว่าง 2 บริษัทระดับโลกไว้ด้วยกัน

สมรภูมิใหม่ค่ายรถยนต์...สู้กันบนฟ้า

“ปอร์เช่กำลังขยายบทบาทจากผู้ผลิตสปอร์ตคาร์ สู่การเป็นแบรนด์ชั้นนำเพื่อให้บริการการเดินทางระดับพรีเมียม นั่นหมายความว่าในแผนงานระยะยาว ปอร์เช่จะเปิดมิติการเดินทางที่ 3 นอกเหนือไปจากบนท้องถนน”  นาย Detlev von Platen กล่าว

จากการศึกษาของปอร์เช่พบว่า ธุรกิจการเดินทางด้วยแท็กซี่บนฟ้าในมหานครต่างๆทั่วโลก จะเติบโตแบบก้าวกระโดดตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป

....เมื่อระบบขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจะเป็นพื้นฐานของยานยนต์ในอนาคต ขณะที่โครงสร้างสังคมเมือง รูปแบบการสัญจร และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ความท้าทายของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์คือ จับมือกับพันธมิตรเพื่อหาทางลัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี-ลดต้นทุน พร้อมเปิดมิติใหม่ของการเดินทาง แน่นอนว่าหนึ่งในเป้าหมายใหญ่คือ การขยับสมรภูมิขึ้นไปแข่งขันกันบนท้องฟ้า 

เรื่อง : กรกิต กสิคุณ

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,547 วันที่ 9 - 12 กุมภาพันธ์ 2563