อุตสาหกรรมยานยนต์โลกซึมหนักขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) คาดยอดผลิตรถยนต์รวมปีนี้มีโอกาสตํ่ากว่า 1.4 ล้านคัน ขายในประเทศเหลือ 7 แสนคัน บนข้อแม้ที่วิกฤติไวรัสโควิด-19 ต้องคลี่คลายภายใน 2-3 เดือนนี้ แต่ถ้าสถานการณ์ตึงเครียดยาวเศรษฐกิจทรุดหนัก ตัวเลขการผลิตรถยนต์จะลดลงได้อีก
ที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในไทยเริ่มปรับกำลังการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพตลาดทั้งในประเทศและส่งออก โดยปิดโรงงานชั่วคราวตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 แต่ล่าสุดหลายบริษัทขยายเวลาไปถึงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมจัดตารางเวลาการทำงานของพนักงานในสายการผลิตใหม่
โตโยต้า หยุดผลิตรถยนต์ชั่วคราวที่โรงงานสำโรง จ.สมุทรปราการ และโรงงานบ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ไปถึงวันที่ 9 พฤษภาคม 2563 ขณะที่โรงงานเกตเวย์ จ.ฉะเชิงเทรา เคยประกาศพักถึง 12 พฤษภาคม แต่ล่าสุดขอยืดไปเป็น 23พฤษภาคมนี้
ด้านนิสสัน โรงงาน 2 จ.สมุทรปราการ แผนเดิมหยุดผลิตตั้งแต่ 6 เมษายน- 3 พฤษภาคม 2563 ล่าสุดขยับเวลาออกไปเป็น 31 พฤษภาคมนี้
อีซูซุ มอเตอร์ ผู้ผลิตรถเพื่อการพาณิชย์รายใหญ่ และมีกำลังผลิตเต็มที่ 4 แสนคันต่อปี จากโรงงาน 2 แห่งคือ สำโรง และเกตเวย์ ประกาศยุบการทำงานกะกลางคืน
สำหรับโรงงานสำโรงให้ทำงานปกติระหว่างวันที่ 5-10 พฤษภาคม 2563 และตั้งแต่ 11- 31 พฤษภาคมนี้ ให้เหลือทำงานเฉพาะเวลากลางวัน โดยกะ A และ B สลับกันมาทำงานแบบ “วันเว้นวัน”
ส่วนโรงงานเกตเวย์ที่ผลิตทั้งรถเล็กและรถใหญ่ ในวันที่ 5- 17 พฤษภาคม 2563 หยุดการผลิตชั่วคราว และตั้งแต่ 18-31 พฤษภาคมนี้ ให้เหลือทำงานเฉพาะกลางวันโดยกะ A และ B สลับกันมาทำงานแบบ “วันเว้นวัน”
ในส่วนอัตราค่าจ้าง ระหว่างวันที่ 5-31 พฤษภาคม 2563 พนักงานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน (รวมวันหยุดประจำสัปดาห์วันหยุดตามประเพณี) ยังรับค่าจ้าง 100% แต่วันที่พนักงานไม่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน จะได้ค่าจ้าง 85% จากวันทำงานปกติ
สำหรับ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่หยุดโรงงานผลิตรถยนต์ 3 แห่ง และเครื่องยนต์ ที่ศูนย์การผลิตแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ชั่วคราวถึงปลายเดือนเมษายน 2563 (แล้วแต่โรงงาน) แต่ล่าสุดจะหยุดผลิตต่อตั้งแต่วันที่ 1-17 พฤษภาคมนี้ ซึ่งกำหนดการหยุดและเปิดสายการผลิตของ 3 โรงงาน ถูกวางแผนต่างกันไป และอาจมีพนักงานบางส่วนเข้ามาทำงานอยู่ หรือพนักงานหยุดวันไหนให้คิดค่าจ้าง 85% จากค่าแรงปกติ
ส่วนค่ายรถยนต์ที่กลับมาทำงานตามแผนคือ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย โดย 2 โรงงานที่ จ.ปราจีนบุรี และจ.พระนครศรีอยุธยา เปิดสายการผลิตอีกครั้งต้นเดือนพฤษภาคมนี้ หลังหยุดไปในช่วง 27 มีนาคม- 30 เมษายนที่ผ่านมา
จากการปรับแผนผลิตรถยนต์ครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งเพราะขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิต และกำลังซื้อในประเทศ-ต่างประเทศหดหาย จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แน่นอนว่ายังกระทบกับบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนในเทียร์ต่างๆ ที่ต้องปิดโรงงานชั่วคราวเช่นกัน
อย่าง บริษัท ไทยซัมมิท พีเคเค จำกัด ผู้ผลิตแชสซีส์สำหรับรถปิกอัพรายใหญ่ ส่วนการดำเนินงานที่นิคมอุตสาหกรรม แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เริ่มหยุดผลิตชั่วคราวตั้งแต่ 30 เมษายน-31 พฤษภาคม 2563 แต่ยังให้ค่าจ้างพนักงานที่ไม่ได้ทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว 75%
ผลกระทบนี้ยังตกไปถึงบริษัทโลจิสติกส์ รับงานขนส่งรถยนต์ไปขึ้นเรือเพื่อส่งออก และผู้ประกอบการรถเทรลเลอร์รับส่งรถไปตามโชว์รูมต่างๆ ที่มีงานน้อยลง
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,572 วันที่ 7 - 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563