Mitsubishi Outlander PHEV นำเข้าชิ้นส่วนหลักๆ มาประกอบในไทยแบบ SKD โดยมิตซูบิชิ ยํ้าว่าจะผลิตเพื่อขายในประเทศเท่านั้น ยังไม่มีแผนส่งออก ซึ่งผมตรวจสอบยอดจอง หลังการเปิดตัวปลายปีที่แล้ว พบว่าได้ตัวเลขประมาณ 200 คัน พร้อมทยอยลงโชว์รูมตั้งแต่กลางเดือนมกราคม 2564
Mitsubishi Outlander PHEV เป็นคอมแพกต์เอสยูวี 5 ที่นั่ง (มีรุ่น 7 ที่นั่ง และรุ่นเครื่องยนต์ดีเซล และเบนซิน ที่ไม่ใช่ปลั๊ก-อินไฮบริด ทำตลาดในหลายประเทศ) แบ่งการทำตลาดเป็น 2 รุ่นย่อย คือ จีที ราคา 1.64 ล้านบาท และ จีที พรีเมียม 1.749 ล้านบาท
แม้จะโดน MG HS PHEV ปาดหน้าเปิดตัวไปก่อน พร้อมตั้งราคา 1.359 บาท ซึ่งเป็นรถประกอบไทยและเสียภาษีสรรพสามิต 4% เหมือน Mitsubishi Outlander PHEV ตามโครงการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าของ บีโอไอ ทว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ ประเทศไทย มองว่าเอสยูวีรุ่นนี้ จะเข้ามาจับกลุ่มลูกค้าที่สนใจรถแบรนด์ยุโรป หรือรถปลั๊ก-อินไฮบริด ที่เดิมมีแต่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู วอลโว่ ที่ราคาเกิน 2 ล้านบาททั้งสิ้น
ดังนั้นการมาของ Mitsubishi Outlander PHEV จะเป็นทางเลือกใหม่ที่ราคาเข้าถึงได้ง่ายกว่า แถมมีระบบขับเคลื่อนที่เหนือชั้นกว่าด้วย
เทคโนโลยีปลั๊ก-อินไฮบริดของ มิตซูบิชิ พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง และอย่าลืมว่านี่คือค่ายรถยนต์แรกของโลกที่ผลิตและขาย EV ในเชิงพาณิชย์ (มิตซูบิชิ ไอมีฟ) ดังนั้นองค์ความรู้ต่างๆ จึงมีอยู่เต็มเปี่ยม พร้อมนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมที่สุดกับรถอเนกประสงค์ที่ต้องมีอรรถประโยชน์หลากหลาย
อย่างการไมเนอร์เชนจ์ของ Mitsubishi Outlander PHEV ขยับเครื่องยนต์จากเบนซินขนาด 2.0 ลิตร เป็น 2.4 ลิตร ซึ่งลงตัวกับระบบขับเคลื่อนที่มีมอเตอร์ 2 ตัวหน้าหลัง รวมถึงเจเนอเรเตอร์ที่แปลงกำลังจากเครื่องยนต์ ไปเป็นพลังไฟฟ้าเพื่อไปเก็บยังแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน
ทั้งนี้ ในช่วงที่ต้องการพละกำลังกะทันหัน เจ้าเจเนอเรเตอร์ตัวเขื่องยังสามารถส่งไฟฟ้าตรงไปที่มอเตอร์ขับเคลื่อนตัวหน้าได้เลย (ส่วนมอเตอร์ตัวหลังที่มีขนาดใหญ่กว่า จะรับไฟฟ้ามาจากแบตเตอรี่)
ดังนั้นสุดยอดเจเนอเรเตอร์ ของ Mitsubishi Outlander PHEV ก็สำคัญพอๆกับ มอเตอร์ 2 ตัว ที่ขับเคลื่อนเพลาหน้า/หลัง เพราะเป็นตัวกระจายกำลังไฟฟ้าไปในส่วนที่จำเป็น เช่นเดียวกับชุดควบคุม MCU และระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่คำนวณการกระจายกำลังของมอเตอร์หน้าและหลัง รวมถึงระบบเบรกในแต่ละล้อ เพื่อประสิทธิภาพการทรงตัวสูงสุด
ต้องยอมรับว่า การทำงานของเทคโนโลยีปลั๊ก-อินไฮบริด มิตซูบิชิ มีความนุ่มนวล การตัดต่อ หรือการประสานของขุมกำลังต่างๆ เนียนแน่น และโดยหลักการคือเน้นให้รถขับคลื่อนแบบระบบไฮบริดแบบซีรีย์ คือให้เครื่องยนต์ปั่นไฟฟ้า และใช้มอเตอร์ 2 ตัวขับเคลื่อนเป็นหลัก ด้วยพละกำลังรวมกัน 177 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 332 นิวตัน-เมตร
ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ต้องการกำลังแบบเร่งด่วน ระบบไฮบริดแบบพาราเรล สามารถเกิดขึ้นได้ โดยเครื่องยนต์จะส่งกำลังลงไปช่วยขับเคลื่อนที่เพลาหน้าอีกหนึ่งแรง (เจเนอเรเตอร์ปั่นไฟฟ้าส่งตรงไปมอเตอร์ตัวหน้า และมอเตอร์ตัวหลังรับไฟจากแบตเตอรี่)
Mitsubishi Outlander PHEV อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ทำได้ 9.3 วินาที ขับขี่ยอดเยี่ยมทุกย่านความเร็ว แถมคล่องตัวอย่างน่าเหลือเชื่อ แม้ตัวรถยาวเกือบ 4.7 เมตร กว้าง 1.8 เมตร
ในกรณีที่แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุไฟฟ้า 13.8 กิโลวัตต์ชั่วโมงถูกชาร์จมาเต็ม มิตซูบิชิเคลมว่า รถสามารถวิ่งในโหมด EV โดยเครื่องยนต์ไม่ติดขึ้นมาเลยได้ระยะทางถึง 55 กม.
การลองขับจริงของผม พบว่า แม้จะไม่ได้กดเลือกโหมด EV ที่ปุ่มตรงคันเกียร์ แต่ถ้าหากมีแบตเตอรี่เกิน 90% รถจะพยายามขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าอย่างเดียวให้มากที่สุด(ถ้าไม่กระทืบคันเร่งแรงๆ) โดยผู้ขับแค่เดินคันเร่งนํ้าหนักปกติ บางช่วงต้องเร่งแซง เครื่องยนต์ก็ยังไม่ติดขึ้นมาครับ
ขณะเดียวกันในโหมด EV สามารถใช้ความเร็วได้สูงสุดถึง 135 กม./ชม.(ยํ้าว่าเหยียบคันเร่งด้วยนํ้าหนักเท่าปกติ)
นอกจากนี้ Mitsubishi Outlander PHEV ยังเลือกระดับการหน่วงของรถเมื่อยกเท้าออกจากแป้นคันเร่ง ได้ 5 ระดับ (ระบบเบรกรีเจนเนอร์เรทีฟ) ซึ่งใครชอบหน่วงมากหน่วงน้อยเลือกได้ตรงแป้นแพดเดิลชิฟต์หลังพวงมาลัย เพียงแต่ทุกครั้งสตาร์ตระบบไฮบริด (กดปุ่มสตาร์ตเครื่อง)ขึ้นมาใหม่ ค่ามาตรฐานของรถจะตั้งอยู่ที่ระดับ B2 หรือหน่วงกลางๆ หรือใครต้องการความเร้าใจ อัตราเร่งดีขึ้น แล้วเลือกโหมด Sport ระบบนี้จะเปลี่ยนไปถึง B5 หรือหน่วงมากที่สุดทันที
เอสยูวี ปลั๊ก-อินไฮบริด รุ่นนี้ ขับง่ายครับ ขนาดตัวไม่เล็กไม่ใหญ่ ระยะตํ่าสุดจากพื้น 190 ม. ยังขึ้นลงสะดวก เบาะหลังนั่งสบาย ส่วนช่วงล่างและการควบคุมออกแนวนุ่มนวลไปนิด ตามความรู้สึกของผม
รวบรัดตัดความ...ด้วยเทคโนโลยีขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าที่ค่ายนี้พัฒนามานาน สะท้อนผ่านเอสยูวีระบบปลั๊ก-อินไฮบริด มอเตอร์ 2 ตัว พร้อมเครื่องยนต์เบนซินขนาด 2.4 ลิตร (เจ้าอื่นใช้มอเตอร์ตัวเดียว และเครื่องยนต์เล็กกว่า) ตอบสนองยอดเยี่ยมทั้งด้านสมรรถนะ และอัตราบริโภคนํ้ามันที่เป็นมิตร มากไปกว่านั้นยังมีครบทุกฟังก์ชัน เพื่อตอบสนองการใช้งานที่หลากหลาย และตรงใจผู้ใช้ ซึ่งรวมๆแล้ว ผมว่า Mitsubishi Outlander PHEV พัฒนาไปไกลกว่าคำว่า รถอเนกประสงค์ มากครับ
หน้า 15 ฉบับที่ 3,649 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 31 มกราคม - 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564