มิชลิน วัสดุศาสตร์แห่งอนาคต

02 มี.ค. 2564 | 11:55 น.
อัปเดตล่าสุด :07 เม.ย. 2564 | 03:12 น.

“มิชลิน” บริษัทผู้ผลิตยางล้อสัญชาติฝรั่งเศส ประกาศว่าอีกไม่เกิน 30 ปี ข้างหน้า จะผลิตยางล้อที่ยั่งยืน 100%

...แล้วยางล้อที่ยั่งยืน 100% คืออะไร?

ตามความตั้งใจนี้ อาจจะไม่ก้าวลํ้าไปถึงยางล้อต้นแบบ VISION ที่เคยเปิดตัวในปี 2560 ซึ่งเป็นยางอัจฉริยะ(ตามแนวคิด) ที่ดอกยางสามารถพิมพ์ขึ้นใหม่ได้ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (Rechargeable), ทำงานบนระบบเครือข่ายเชื่อมต่อ (Connected) และไม่ต้องเติมลมยาง (Airless)

ทว่า ยางล้อที่ยั่งยืน 100% ของมิชลินในปี 2593 หมายถึง การผลิตขึ้นจากวัสดุหมุนเวียน (Renewable), วัสดุที่ได้จากการรีไซเคิล, วัสดุที่มาจากแหล่งชีวภาพ หรือวัสดุที่มีความยั่งยืนทั้งหมด หรือเพิ่มสัดส่วนขึ้นจากปัจจุบันที่การผลิตยางของกลุ่มมิชลินใช้ส่วนประกอบดังกล่าว 30%

มิชลิน วัสดุศาสตร์แห่งอนาคต

ทั้งนี้ ยางมิชลินประกอบขึ้นจากส่วนประกอบมากกว่า 200 ชนิด โดยมียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบหลัก และมีส่วนประกอบอื่นๆ อาทิ ยางสังเคราะห์, โลหะ, เส้นใย และส่วนประกอบที่ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้าง
ยางล้อ ได้แก่ คาร์บอนแบล็ค, ซิลิกา และสารเพิ่มความยืดหยุ่น เช่น เรซิน

ส่วนประกอบในสัดส่วนที่เหมาะสมเหล่านี้ มีส่วนช่วยให้ยางมีความสมดุลสูงสุด ทั้งในแง่สมรรถนะประสิทธิภาพในการขับขี่และความปลอดภัย ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายผลิตยางล้อที่ยั่งยืน 100% มิชลิน ใช้ความเชี่ยวชาญของตนเอง และพันธมิตรทั่วโลก รวมถึงการเข้าไปร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพที่กำลังพัฒาเทคโนโลยีเชิงวัสดุ

ล่าสุด ต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 มิชลินประกาศเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานรีไซเคิลยางล้อแห่งแรกในโลกของมิชลิน ภายใต้ความร่วมมือกับ “เอ็นไวโร” บริษัทสัญชาติสวีเดนซึ่งเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่ได้รับสิทธิบัตรในการนำคาร์บอนแบล็ค,นํ้ามันไพโรไลซิส, เหล็กกล้า,ก๊าซ และวัสดุใหม่ชนิดนำกลับมาใช้ซํ้าได้คุณภาพสูงอื่น ๆ จากยางที่สิ้นอายุใช้งานแล้วกลับมาใช้ใหม่

มิชลิน วัสดุศาสตร์แห่งอนาคต

โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยให้สามารถแปรรูปทุกส่วนของยางที่สิ้นอายุใช้งานแล้วเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำกลับมาใช้ซํ้าในกระบวนการผลิตหลากหลายรูปแบบที่ใช้ยางเป็นวัตถุดิบหลัก

นอกจากนี้ มิชลินยังมีเครือข่ายพันธมิตร “แอคเซนส์” และ “ไอเอฟพี เอเนอจีส์ นูเวลล์ส” สองบริษัทซึ่งดำเนินโครงการ BioButterfly ในการผลิตบิวทาไดอีนจากชีวมวล (Bio-Sourced Butadiene) เช่น ไม้, แกลบ, ใบไม้, ซังข้าวโพด และของเหลือทิ้งจากพืช เพื่อนำมาใช้แทนบิวทาไดอีนที่ได้จากปิโตรเลียม

“คาร์ไบโอส์” บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติฝรั่งเศส ที่นำเอนไซม์มาใช้แยกโครงสร้างขยะพลาสติกประเภท PET ให้คืนสภาพกลับไปอยู่ในรูปโมโนเมอร์บริสุทธิ์แบบดั้งเดิม และสามารถนำไปใช้ผลิตพลาสติก PET ขึ้นใหม่ซํ้าได้ไม่สิ้นสุด ซึ่งหนึ่งในพลาสติกที่ได้จากกระบวนการรีไซเคิลดังกล่าว คือ เส้นด้ายโพลีเอสเตอร์ ที่ใช้ในการผลิตยางรถยนต์

นอกจากนี้ มิชลินยังมีศูนย์วิจัยและพัฒนาทั่วโลกรวม 7 แห่ง พร้อมยื่นจดสิทธิบัตรซึ่งครอบคลุมการออกแบบและผลิตยางล้อรวม 10,000 ฉบับ โดยศักยภาพต่างๆ เหล่านี้ จะมีส่วนผลักดันให้ถึงเป้าหมาย ผลิตยางล้อที่ยั่งยืน 100% ในปี 2593 

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,658 วันที่ 4 - 6 มีนาคม พ.ศ. 2564