มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ปักธงอาเซียน มุ่งเป้าขาย 3.75 แสนคัน

25 มี.ค. 2564 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2564 | 10:35 น.

"มิตซูบิชิ มอเตอร์ส" ถอยทัพจากยุโรป หันมาสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในอาเซียน พร้อมกระจายโรงงานผลิตไปหลายประเทศ มุ่งสู่เป้าหมายการขายรถในภูมิภาคอาเซียนรวม 3.75 แสนคันในปี 2565 ส่วนแผนลงทุนในเมียนมา ต้องชะลอหลังเกิดเหตุความไม่สงบ

หลังปรับโครงสร้างทางธุรกิจให้สอดคล้องกับกลุ่มพันธมิตร เรโนลต์ นิสสัน โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส จะปรับแผนการทำตลาดในหลายประเทศ รวมถึงยุโรปที่จะหยุดการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่หวังลดต้นทุนคงที่ลง 20% และมุ่งดำเนินธุรกิจในภูมิภาคที่สร้างผลกำไร โดยไทยและอาเซียนถือเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญ ซึ่งมียอดขายรวมกันในภูมิภาคนี้ สูงที่สุดของมิตซูบิชิ มอเตอร์สในโลก (มากกว่าญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา) ทั้งยังตั้งเป้าขายรถยนต์ในอาเซียนถึง 3.75 แสนคันต่อปี ภายในปี 2565

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ธุรกิจในเครือ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ลงทุนในอาเซียนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเจียดเงิน 7,000 ล้านบาท ปรับปรุงฐานการผลิตที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี ไม่รวมการลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้า โดยนำมิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ ปลั๊ก-อินไฮบริด มาประกอบในไทยเป็นประเทศที่สองของโลกต่อจากญี่ปุ่น

“เราใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อส่งออกรถยนต์ไปทั่วโลก ไม่เพียงเราที่ลงทุนเท่านั้นแต่ยังมีเครือข่ายของบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ลงทุนในไทยอีกด้วย ล่าสุดฉลองครบรอบการดำเนินธุรกิจในไทยครอบ 60 ปี และมียอดผลิตรวม 6 ล้านคัน โดยมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์ที่ผลิตขึ้นด้วยฝีมือคนไทยเป็นรายแรก ปัจจุบันมียอดการส่งออกรถยนต์สะสมมากกว่า 4.4 ล้านคัน (ตั้งแต่ปี 2531-2564) คิดเป็น 75% ของยอดการผลิตทั้งหมด” นายโมะริคาซุ ชกกิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ปัจจุบัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีโรงงานผลิตรถยนต์รวม 3 แห่ง โรงงานผลิตเครื่องยนต์ 1 แห่ง สนามทดสอบรถยนต์เพื่อการคิดค้นและพัฒนายานยนต์แห่งแรกนอกประเทศญี่ปุ่น โดยตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ลงทุนในประเทศไทยไปแล้วกว่า 82,000 ล้านบาท พร้อมส่งออกรถยนต์ไปขายทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ

ที่ผ่านมามีข่าวว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ส จะเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซีย และเมียนมา โดยประธานใหญ่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ยืนยันในประเด็นดังกล่าว

“การลงทุนเพิ่มเติมในอาเซียน ไม่ใช่เรื่องการแข่งขันกันในแต่ละประเทศ แต่จะเป็นการสร้างธุรกิจในภูมิภาคนี้ให้เติบโตไปด้วยกัน โดยอาเซียนจะเป็นตลาดหลักของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ส่วนการลงทุนผลิตรถยนต์ในเมียนมา ต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะ” นายชกกิ กล่าว

โรงงานผลิตรถยนต์มิตซูบิชิในอาเซียน

สำหรับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ที่มีกำลังผลิตรถยนต์รวม 4.24 แสนคันต่อปี แต่ปี 2563 ผลิตได้จริง 2.5 แสนคัน(รวมชุด CKD) ขณะที่ยอดขายในประเทศทำได้ 57,409 คัน ลดลง 35% เมื่อเทียบกับปี 2562

เหนืออื่นใด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เพิ่งประกาศแต่งตั้ง นายเออิอิชิ โคอิโตะ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ต่อจากนายโมะริคาซุ ชกกิ ที่อยู่ในตำแหน่งนี้มา 6 ปี

สำหรับนายเออิอิชิ โคอิโตะ เริ่มทำงานร่วมกับ มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น มาตั้งแต่ปี 2537 และได้รับการมอบหมายให้รับผิดชอบในตำแหน่งต่างๆ ทั้ง การวางแผนผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด รวมทั้งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลธุรกิจที่หลากหลายในต่างประเทศ ขณะเดียวกันยังประเมินยอดขายในปี 2564 โดยคาดว่าตลาดรวมจะถึง 8.3-8.5 แสนคัน มากกว่าปี 2563 ที่ทำได้ 7.9 แสนคัน

ส่วนนายโมะริคาซุ ชกกิ ยังทำงานกับบริษัทต่อไปในตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท และมีภารกิจสำคัญคือ งานด้านรัฐกิจสัมพันธ์ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564

ทั้งนี้ ปี 2564 ที่บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินธุรกิจในไทยครบ 60 ปี ก่อนหน้านี้เปิดแคมเปญ ฉลอง 60 ปี แจก 60 ล้าน ล่าสุดยังเปิดตัวรถยนต์รุ่นพิเศษ ที่มาภายใต้คอนเซ็ปต์“Passion Red Edition” ประกอบด้วยมิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต,แอททราจ และมิราจ ซึ่งจะมีเฉดสีแดงแตกต่างกันไป และปิกอัพ มิตซูบิชิ ไทรทัน รักกิจ เอดิชั่น

ภายใต้แคมเปญนี้ เมื่อลูกค้าซึ้อมิตซูบิชิปาเจโร สปอร์ต สีแดง Medium Red มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จะร่วมบริจาคเงิน 5,000 บาทต่อคันและหากลูกค้าซื้อรถยนต์รุ่นพิเศษ 3 รุ่น ได้แก่ แอททราจ,มิราจ รุ่น Special Edition และ มิตซูบิชิ ไทรทัน รักกิจ เอดิชั่น จะร่วมบริจาคเงิน 2,000 บาทต่อคัน ระยะเวลาตั้งแต่ 22 มีนาคม ถึง 31 ธันวาคม 2564

เงินที่รวบรวมได้ทั้งหมดจะถูกนำไปบริจาค ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สุขภาพและชีวอนามัย และการศึกษาและจริยธรรม 

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,664 วันที่ 25 - 27 มีนาคม พ.ศ. 2564