ซูซูกิ มอเตอร์ ประเทศไทย ส่งมอบ Suzuki Carry Biosafety Mobile Unit ให้แก่ หมอแล็บแพนด้า “ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” เพื่อนำไปออกปฏิบัติงานตามสถานที่ต่างๆ พร้อมอำนวยความสะดวกให้ทั้งประชาชน เจ้าหน้าที่ สำหรับเก็บสิ่งส่งตรวจ และเพื่อค้นหาบุคคลกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19
สำหรับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเคลื่อนที่คันนี้ นำ Suzuki Carry มาดัดแปลง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สำหรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในเชิงรุกแบบเคลื่อนที่ โดยตู้ชีวนิรภัย (biosafety unit) ติดตั้งอยู่บนกระบะรถ ถูกออกแบบโดยใช้หลักการ Human-Centered Design ที่คำนึงถึงพฤติกรรมการใช้งานของผู้ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ ทั้งในด้านดีไซน์และฟังก์ชันใช้สอยที่ตอบรับความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างตรงจุด
นอกจากนี้ มีระบบปรับและกรองอากาศด้วย HEPA Filter ที่มีขนาดหนากว่าปรกติ ด้วยวัสดุที่ทำจากเทคโนโลยีเส้นใยขั้นสูง มีประสิทธิภาพในการกรองฝุ่นที่สูงกว่าแบบปกติมากยิ่งขึ้น และระบบแรงดันบวก (positive pressure) เพื่อป้องกันแพทย์หรือนักเทคนิคการแพทย์ ผู้เก็บตัวอย่างจากภายในรถได้รับอันตรายจากเชื้อโรค ทำให้ลดการติดเชื้อโรคของผู้ปฏิบัติงาน และเพื่อลดค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้เป็นจำนวนมาก
Suzuki Carry Biosafety Mobile Unit ถูกออกแบบมาให้มีความสามารถในการรองรับการเก็บตัวอย่างได้มากกว่า 300 ตัวอย่างต่อวัน ด้วยสมรรถนะและความคล่องตัวของรถสามารถนำไปใช้เก็บตัวอย่างในพื้นที่ที่เข้าถึงยาก ช่วยลดปัญหาความแออัดในสถานพยาบาล และเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการเฝ้าระวัง และค้นหา
ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19ในทุกพื้นที่ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
รถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเคลื่อนที่ Suzuki Carry เป็นฝีมือของศูนย์นวัตกรรม KMITL FIGHT FOR COVID-19 และศูนย์วิจัยและออกแบบงานสร้างสรรค์ (Research and Creative Design Center: RCDC) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมูลค่าในการดัดแปลงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ครั้งนี้ไม่ตํ่ากว่า 3 แสนบาทต่อคัน (ไม่รวมราคารถ 385,000 บาท)
นายวัลลภ ตรีฤกษ์งาม กรรมการบริหารด้านการขายและการตลาด บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่าการ จัดทำ Suzuki Carry BiosafetyMobile Unit เป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการ SUZUKI Cause We Care เพื่อช่วยเหลือสังคมผ่าน “ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน” นักเทคนิคการแพทย์ที่ครองใจประชาชนในสังคมออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ “หมอแล็บแพนด้า” ซึ่งซูซูกิเล็งเห็นว่าหมอแล็บแพนด้ามีวิธีการสื่อสารให้ความรู้เกี่ยวกับทางการแพทย์ให้ประชาชนเข้าใจและรับรู้ได้อย่างง่ายดาย สอดคล้องกับความตั้งใจของซูซูกิในการจัดทำโครงการ “SUZUKI Cause We Care-เหนือกว่าความใส่ใจ คือความเข้าใจทุกความต้องการ”
นอกเหนือจากความต้องการที่จะสื่อสารกับลูกค้า ทั้งด้านสินค้าและงานบริการได้อย่างทันท่วงที และมอบบริการที่ดีเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่ลูกค้าแล้วซูซูกิมีแนวคิดภายใต้หลักการว่าธุรกิจจะสามารถเติบโตได้หากมีการช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชน และสังคมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาและความตั้งใจในการเข้าไปสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ในช่วงที่สังคมกำลังเผชิญปัญหาจากไวรัสโควิด-19 อยู่ในขณะนี้
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564