Mercedes Benz S-Class โฉมใหม่ รหัสตัวถัง W223 เปิดตัวในตลาดโลกตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2563 และเริ่มส่งมอบให้ลูกค้าในยุโรปเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา แล้วถ้าเป็นไทม์ไลน์ในสถานการณ์ปกติ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ควรนำเข้ามาเปิดตัวอย่างช้าในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ 2021
ทว่า การปรับแผนการผลิตของบริษัทแม่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ เอจี ที่ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิ้นส่วน และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนส่งผลต่อสายการผลิต และช่วงเวลาที่จะแนะนำโปรดักต์ใหม่ๆ หลายรุ่นลงสู่ตลาด ซึ่งรวมถึง Mercedes Benz S-Class โฉมใหม่
เมื่อแผนทำตลาด W223 รุ่นนำเข้า ถูกขยับเวลาให้ล่าช้าออกไป จนถอยมาใกล้เคียงกับความพร้อมที่จะผลิตในประเทศที่โรงงานธนบุรี ประกอบรถยนต์ สำโรง จ.สมุทรปราการ ดังนั้น เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จึงตัดสินใจไม่เปิดตัวรุ่นนำเข้าก่อน เหมือนรูปแบบธุรกิจที่ผ่านๆ มา และรอขาย Mercedes Benz S-Class รุ่นประกอบในประเทศ ทีเดียว
โดย “ฐานยานยนต์” เคยรายงานว่า Mercedes Benz S-Class W223 รุ่นประกอบในประเทศ พร้อมเปิดตัวช่วงกลางปีนี้ หรือต้นไตรมาสที่ 3 กับ 2 ทางเลือกคือ รุ่นเครื่องยนต์ดีเซล และปลั๊ก-อินไฮบริด (วิ่งโหมด EV ได้ 100 กม.) ซึ่งในช่วงเวลาคาบเกี่ยวกันนี้ (ไตรมาสที่ 3) ยังมีกระแสข่าวว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เตรียมเปิดตัว เมอร์เซเดส มายบัค เอส-คลาส และ เมอร์เซเดส มายบัค จีแอลเอส ด้วย
อย่างไรก็ตาม Mercedes Benz S-Class ที่เป็นรถยนต์ระดับแฟลกชิปโมเดลของค่าย มาพร้อมเทคโนโลยียานยนต์ทันสมัย หลายฟังก์ชันใหม่ๆ ถูกใส่มาในรถยนต์เป็นครั้งแรกของโลก เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัย จึงเป็นที่หมายปองของเศรษฐีทั่วโลก
เมื่อ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ขยับช่วงเวลาเปิดตัว ซาลูนหรูรุ่นนี้ออกไป จึงเป็นโอกาสให้บรรดาผู้นำเข้าอิสระ(เกรย์มาร์เก็ต) มีช่องทางนำรถยนต์รุ่นพวงมาลัยขวามาทำตลาดก่อน กับ Mercedes-Benz S500 เครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบ ขนาด 3.0 ลิตร
ผู้นำเข้าอิสระรายหนึ่งตั้งราคาขาย Mercedes-Benz S500 11-11.5 ล้านบาท กับตัวถังสี ดำ ขาว เทา โดยยืนยันว่ามีรถพร้อมส่งมอบทันที
ส่วนตัวเลขจดทะเบียน Mercedes Benz S-Class โฉมเก่า W222 กับกรมการขนส่งทางบก 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.64) พบว่ามีจำนวนกว่า 100 คัน จากยอดจดทะเบียนรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทั้งหมดทุกรุ่น ทั่วประเทศ กว่า 3,900 คัน
ตั้งแต่ต้นปี 2564 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย เปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ทุกเดือน เช่น GLS ราคาใหม่, Mercedes AMG GLA 35,GLE 350 de ดีเซล ปลั๊ก-อินไฮบริด และ อี-คลาส เฟซลิฟท์ ส่วนปลายปีนี้ยังมีทีเด็ดกับ ซี-คลาส โฉมใหม่ W206 รุ่นประกอบในประเทศ
ด้านคู่แข่งบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่ยัง “งง” ว่า เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย นำตัวเลขยอดจดทะเบียนรถใหม่กับกรมการขนส่งทางบกมาเคลม และประกาศเป็นแชมป์รถหรูในไตรมาสแรก ล่าสุดส่งข่าวยอดขาย (ตัวเลขการส่งมอบ)ของตนเอง ที่ยึดการรายงานของสภาอุตสาหกรรม ซึ่งถูกรวบรวมและเผยแพร่โดย โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย
นายอเล็กซานเดอร์ บารากา ประธาน บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2564 บริษัทส่งมอบรถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูและมินิรวม 2,773 คัน เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่งท้ายไตรมาสแรกด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในเซกเมนต์พรีเมียมที่ 48.7% (บีเอ็มดับเบิลยู 2,533 คัน,มินิ 240 คัน)
ในปี 2563 นับเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ที่ก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งผู้นำของตลาดยานยนต์พรีเมียมไทย ด้วยความมุ่งมั่นที่ผู้จำหน่ายและพนักงานทุกคนทุ่มเท และปีนี้ยังสร้างความสำเร็จอีกครั้ง ในฐานะผู้นำอันดับหนึ่งในไตรมาสแรก
“ผมมั่นใจว่า เราจะร่วมกันเดินต่อไปบนเส้นทางนี้ได้อีกยาวไกล เพื่อสานต่อและปูทางสู่ความสำเร็จในตลาดยานยนต์พรีเมียมไทย อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีนี้” นายบารากากล่าว
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,677 วันที่ 9 - 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2564