รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ZEV@35 ยานยนต์ไฟฟ้า 100 % ปี ค.ศ. 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งจัดโดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย เเละบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์
รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น ยานยนต์ไฟฟ้าโลก (Global Electric Mobility) ช่วงปี ค.ศ. 2019 เเละ ค.ศ. 2020 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในเเถบ ยุโรป ตัวอย่างเช่น นอร์เวย์ ไอซ์เเลนด์ เเละสวีเดน จำนวนยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเเต่ละประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชน โดยทางทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA ) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตามที่หลายประเทศประกาศนโยบายไว้ (Stated Policies Scenario) ว่าภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากใน ปี ค.ศ. 2020 ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ ตั้งเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2035 ให้ยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ภายในประเทศ เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในสัดส่วน 100% โดยเร่งผลักดันมาตรการการผลิตยานยนต์ภายในประเทศเป็น ZEV ในสัดส่วน 30% ภายในปี ค.ศ. 2030
“จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบนโซเชียลมีเดีย KMUTT MOVE: Mobility & Vehicle Technology Research Center ต่อเรื่องประเทศไทยจะยกเลิกขายยานยนต์เครื่องยนต์ ภายในปี ค.ศ. 2035 พบว่า 31% ให้ความเห็นเรื่องช่วงเวลาการยกเลิก เเละคิดว่าช่วงเวลาปี ค.ศ. 2035 ช้าเกินไป โดยส่วนตัวคิดว่า หากมีมาตรการที่กระตุ้นทั้งผู้ซื้อ เเละผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับเเนวโน้มการใช้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในขณะนี้” รศ. ดร. ยศพงษ์
ปัจจุบันยานยนต์ ZEV ในประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบตเตอรี่ หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ทั้งหมด ถึงเเม้ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2020) การจดทะเบียนใหม่เป็น BEV มีจำนวน 2,999 คัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1 % เทียบกับยานยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด เเต่มีการเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 90 % เมื่อเทียบกับในปี ค.ศ. 2019