เริ่มทยอยส่งมอบให้แก่ลูกค้าชาวไทยแล้วครับ สำหรับ Aston Martin DBX เอสยูวีรุ่นแรกจากค่ายสปอร์ตคาร์ระดับตำนานของอังกฤษ
เช่นเดียวกับค่ายรถยนต์ระดับหรู-ซูเปอร์คาร์ ที่หันมาเพิ่มไลน์อัพในกลุ่มเอสยูวี ทั้ง มาเซราติ เลอวานเต้, เบนท์ลีย์ เบนเทย์ก้า, โรลส์-รอยซ์ คัลลิแนน,ลัมโบร์กินี อูรุส และที่รํ่าๆ จะมาอีกค่ายคือ เฟอร์รารี่
ในส่วน Aston Martin DBX ยังมีความหมายถึงการปักหมุดธุรกิจครั้งใหญ่ของแบรนด์รถยนต์ที่มีอายุ 108 ปี เพราะถึงกับต้องสร้างโรงงานใหม่ที่ เซนต์ เอเธนต์,เวลส์ มารองรับการผลิตหลังจากโรงงานที่ เกย์ดอน, อังกฤษ ขยับขยายยาก
ผมเคยไปเยือนโรงงานผลิตรถยนต์แห่งที่สอง ของแอสตันมาร์ติน ช่วงปลายปี 2562 โดยเขาเลือกใช้โรงเก็บ/ซ่อมเครื่องบิน มาปรับปรุงให้เป็นโรงงานผลิตรถยนต์ และประเดิมกับรถยนต์รุ่นแรกที่ออกมาจากสายการผลิตช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 นั่นคือ Aston Martin DBX (ต่อไปจะมีรถรุ่นอื่นๆ ผลิตที่นี่เพิ่มเติม)
จากที่เจอตัวเป็นๆครั้งแรกที่เวลส์ ต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปี กว่าจะได้ลองขับบนท้องถนนเมืองไทย โดยแอสตัน มาร์ติน แบงคอก ในเครือเอ็มจีซี-เอเชีย นำมาให้ผู้สื่อข่าวได้ทดสอบระยะทางสั้นๆ สัมผัสความหรูหรา ความสะดวกสบายพอเป็นพิธี
ความท้าทายของการพัฒนา Aston Martin DBX คือต้องทำรถให้สวย มีเอกลักษณ์ สมรรถนะการขับขี่ยอดเยี่ยม บนความอเนกประสงค์สไตล์เอสยูวี ซึ่งเป็นตลาดที่แอสตัน มาร์ติน ไม่เคย มีมาก่อน
ตัวรถหนาใหญ่ ความยาวประมาณ 5 เมตร พื้นตัวถังยกสูงขึ้นมา 190 มม. (Ground Clearance) ประกบล้อ 22 นิ้ว ส่วนระยะฐานล้อ 3.06 เมตร สะท้อนความกว้างภายในห้องโดยสารได้เป็นอย่างดี
แพลตฟอร์มใหม่ ไม่ได้อิงกับสปอร์ตคูเป้รุ่นอื่นๆ โครงสร้างตัวถังขึ้นรูปจากวัสดุอะลูมิเนียม(เป็นหลัก) เพลากลางใช้วัสดุคาร์บอนไฟเบอร์ ขณะที่นํ้าหนักรถเปล่า 2,245 กิโลกรัม
ด้านเครื่องยนต์ใช้บล็อก วี8 ของ Mercedes AMG เหมือนกับรถยนต์ร่วมค่ายหลายรุ่น แต่ด้วยขนาดตัวถังและนํ้าหนักมากกว่าเพื่อน Aston Martin DBX จึงรีดกำลังไปถึง 550 แรงม้า (DB11 และ Vantage 503 แรงม้า) สอดคล้องระบบส่งกำลังใช้เกียร์อัตโนมัติ 9 สปีด (DB11 และ Vantage ใช้ 8 สปีด)
สรุปประสิทธิผลของ Aston Martin DBX กับเครื่องยนต์ วี8 ขนาด 4.0 ลิตร เทอร์โบคู่ ให้กำลังสูงสุด 550 แรงม้า ที่ 6,500 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 700 นิวตันเมตร ที่ 2,200 รอบต่อนาที อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ทำได้ 4.5 วินาที (แต่ช้ากว่า DB11 และ Vantage)
แม้ตัวเลขต่างๆ จะดูเหมือนรถซูเปอร์คาร์ แต่สมรรถนะการขับขี่ ยังทำได้กลมกล่อมลงตัวกับการเป็นรถอเนกประสงค์ยกสูง 5 ที่นั่ง สมดุลของการถ่ายเทนํ้าหนักหน้า-หลังค่อนข้างดีในระดับเอสยูวีชั้นสูง
การออกแบบตัวถัง คำนึงถึงการรีดลมตามหลักแอร์โรไดนามิก ทั้งแรงกดด้านหน้า และหลัง รวมถึงอากาศไหลผ่านใต้ท้องรถ สอดคล้องกับระบบขับเคลื่อน 4 ล้อตลอดเวลา พร้อมระบบอิเลกทรอนิกส์ต่างๆ ที่คอยช่วยเหลือในการขับขี่ ทำให้เสถียรภาพการทรงตัวมั่นคง
โดยภาพรวมแอสตัน มาร์ติน เซ็ตรถให้เนียนนุ่มโครงสร้างช่วงล่างหน้าแบบมัลติลิงค์ หลังแบบปีกนกสองชั้น พร้อมระบบรองรับแบบถุงลม ปรับระดับความสูง-ตํ่า ตามโหมดการขับขี่ และปรับเองอัตโนมัติ
จาก Ground Clearance ปกติ 190 มม.ในโหมด GT ช่วงล่างถุงลมสามารถยกขึ้นได้ 45 มม. และลงตํ่าสุดได้อีก 50 มม. จากค่ากลางดังกล่าว
โดยการปรับแต่ละระดับ มีทั้งรถคำนวณให้อัตโนมัติ(ตามความเร็ว) และปรับตามโหมดการขับขี่ Terrain+(ออกแนวออฟโรด), Terrain, GT, Sport และ Sport+ (มาพร้อมการแต่งเสียงเครื่องยนต์และท่อไอเสีย)
ขณะที่ระบบขับเคลื่อนสี่ล้อตลอดเวลา จะกระจายกำลังไปยังล้อหน้า-หลัง แปรผันตามสภาพการขับขี่ สามารถส่งกำลังไปยังล้อคู่หลังได้สูงสุด 100% (หน้า 0%) และน้อยสุด 53% (หน้า 47%) พร้อมเพิ่มศักยภาพด้วยเฟืองท้ายลิมิเต็ดสลิป ควบคุมด้วยระบบไฟฟ้า
รวบรัดตัดความ...ราคา 19.9 ล้านบาท ถือเป็นผลงานชั้นเยี่ยมของแบรนด์ดังจากอังกฤษ สัมผัสได้ถึงความละเอียดในการออกแบบ ปราณีตในชิ้นงาน เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ที่มีผลต่อความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และอารมณ์ของผู้เป็นเจ้าของ บนสมรรถนะการขับขี่ที่สุขุม ควบคุมได้ทุกสถานการณ์ แม้ยอดขายในไทยอาจจะไม่เยอะ หรือน่าจะเป็นตัวเลขหลักเดียวต่อปี แต่ Aston Martin DBX ถือเป็นทิศทางแห่งอนาคต ที่แสดงถึงศักยภาพของแอสตัน มาร์ตินยุคใหม่ ได้เป็นอย่างดี
เรื่อง : กรกิต กสิคุณ
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,689 วันที่ 20 - 23 มิถุนายน พ.ศ. 2564
ข่าวที่เกี่ยวข้อง บุกบ้านเกิด"แอสตัน มาร์ติน"ตะบัน DBS
Aston Martin Works ทีมงานขั้นเทพ ฟื้นตำนานสปอร์ตคาร์ระดับโลก