ดีลเลอร์รถยนต์อ่วม โดนบี้ปรับโชว์รูมใหม่-โควิดซัดเศรษฐกิจทรุดคืนทุนช้า

23 ส.ค. 2564 | 01:00 น.

ดีลเลอร์อ่วม หลังจากโดนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไล่บี้ลงทุนเพิ่มเพื่อปรับโชว์รูม-ศูนย์บริการตาม CI ใหม่ แถมโควิด-19 ทุบเศรษฐกิจซ้ำ ดีลเลอร์นิสสันยอมรับ ธุรกิจคืนทุนช้าไปอีก 2 ปี

ธุรกิจผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ (ดีลเลอร์) ที่ทยอยส่งไม้ต่อจากยุคผู้บุกเบิกเจเนอเรชันที่หนึ่ง สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน เจเนอเรชันที่สอง ยังต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ และนโยบายของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่เปลี่ยนไป

 

ธุรกิจโชว์รูม-ศูนย์บริการรถยนต์โดยผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการประมาณ 2,000 แห่งในไทย จำนวนนี้มีทั้งผู้เล่นรายใหม่และรายเก่าที่ถอดใจถอยออกไป (บางรายเปลี่ยนแบรนด์) ที่สำคัญการดิสรัปต์ของเทคโนโลยี ที่มีโควิด-19 มาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทำให้การปรับโครงสร้างทางธุรกิจมาถึงเร็วขึ้น บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องกำหนดทิศทางใหม่ ซึ่งล้วน เป็นสิ่งที่ดีลเลอร์ต้องปรับตัวตาม ทั้ง ทัศนคติ แผนการดำเนินงาน และการลงทุนเพิ่ม

ดีลเลอร์รถยนต์อ่วม โดนบี้ปรับโชว์รูมใหม่-โควิดซัดเศรษฐกิจทรุดคืนทุนช้า

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตรถยนต์เน้นให้ดีลเลอร์พัฒนาบริการหลังการขาย และลงทุนปรับปรุงโชว์รูม-ศูนย์บริการใหม่ อย่างค่ายที่ไม่เคยขยับมานาน “อีซูซุ” ประกาศให้ทุกดีลเลอร์ที่มีโชว์รูมรวมกันกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ เปลี่ยนโฉมตาม CI (Corporate Identity) ใหม่ให้ครบทุกแห่งภายในปี 2565 รวมเงินลงทุนกว่า 4,300 ล้านบาท

 

ขณะที่ นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย มีแผนให้โชว์รูม 178 แห่งทั่วประเทศ เปลี่ยน CI ตามนโยบายระดับโลก Nissan Retail Concept (NRC) โดยกำหนดแล้วเสร็จทุกโชว์รูมภายในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งดีลเลอร์ต้องใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 5 ล้านบาทต่อหนึ่งสาขา

 

นายอิซาโอะ เซคิกุจิ ประธานนิสสัน ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภายใต้แผนธุรกิจ Nissan Next ทุกดีลเลอร์นิสสัน ต้องปรับตัวสู่ยุคดิจิทัลมุ่งสู่การบริการผ่านระบบออนไลน์เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว

 

“เป้าหมายของเราคือการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงคุณภาพพร้อมนำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน มาปรับพัฒนาระบบงานผู้จำหน่ายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการลูกค้าให้ตรงจุด และรวดเร็ว เพราะลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญของทุกสิ่งที่เราทำ ควบคู่ไปกับการปรับปรุงโชว์รูม และศูนย์บริการ การฝึกอบรม การพัฒนาทักษะการขาย และการให้บริการหลังการขาย ตามแผนกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโต และผลกำไรอย่างยั่งยืน” นายเซคิกุจิ กล่าว

 

ส่วนดีลเลอร์ “นิสสัน ออโต้ แกลเลอรี่ บี มอร์” ที่มีสาขาในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคกลางตอนล่าง รวม 7 สาขา โดยนายธรรมรัตน์ โพธิ์ใบกุล กรรมการผู้จัดการ เปิดเผยว่า โควิด-19 มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะโชว์รูม-ศูนย์บริการใหม่ ที่ตามปกติจะเริ่มคืนทุนหลังดำเนินงานมาถึงปีที่ 7 แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ อาจจะยืดระยะเวลาออกไปอีก 2 ปี

ดีลเลอร์รถยนต์อ่วม โดนบี้ปรับโชว์รูมใหม่-โควิดซัดเศรษฐกิจทรุดคืนทุนช้า

ด้านค่ายรถยนต์พรีเมี่ยมจากเยอรมนี โดยนายโรลันด์ โฟล์เกอร์ ประธานบริหาร บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ด้วยแรงผลักดันจากความเปลี่ยนแปลงในเรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค การเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล และการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 เมอร์เซเดส-เบนซ์วางเป้าหมายที่จะ “รีเซ็ตเครือข่าย” เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินกลยุทธ์การขายรูปแบบใหม่

 

“เราบอกกับดีลเลอร์ว่า วันเวลาที่หอมหวานไม่ได้กลับมาแล้วอย่างเราเคยมีโชว์รูมขาย 19 แห่งในกรุงเทพฯ วันนี้ต้องคิดว่า มันเพียงพอหรือไม่ หรือมีมากกว่าความต้องการหรือไม่ ซึ่งนับจากนี้บทบาทของผู้จำหน่ายต้องเปลี่ยนไป คงต้องปรับตัวพอสมควร” นายโฟล์เกอร์ กล่าวสรุป

ปัจจุบัน เมอร์เซเดส-เบนซ์ประเทศไทย ลดโชว์รูม Full-Fledge (3S) เต็มรูปแบบจาก 36 แห่ง เหลือ 34 แห่ง แต่ไปผลักดันเพิ่มศูนย์บริการ Stand-alone ให้ถึง 7 แห่งในไตรมาส 3 ปี 2564 ซึ่งค่ายรถตราดาวมองว่า ธุรกิจบริการหลังการขายเป็นการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ดีลเลอร์

 

อย่างไรก็ตาม ดีลเลอร์รายเก๋าที่ปฎิบัติไม่ได้ตามแผนงานที่บริษัทคาดหวัง อย่าง “เบนซ์ ทองหล่อ” ของ “วสันต์ โพธิพิม พานนท์” ล่าสุดถูกให้ยุติการดำเนินงานที่สาขาทองหล่อเรียบร้อยแล้ว แต่ยังเหลือสาขาที่รามอินทราไว้ดูแลอีกหนึ่งแห่ง

ดีลเลอร์รถยนต์อ่วม โดนบี้ปรับโชว์รูมใหม่-โควิดซัดเศรษฐกิจทรุดคืนทุนช้า

สำหรับการดูแลลูกค้าในย่านนั้น เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศ ไทย แต่งตั้งดีลเลอร์ “สวนหลวง ออโต้เฮ้าส์” ไปเปิดศูนย์บริการ Authorized Service Center ในนามเอ็มบี สุขุมวิท บนพื้นที่ 3 ไร่ ปากซอยสุขุมวิท 83 เป็นการทดแทน