อุตสาหกรรมยานยนต์ในไทยยังเนื้อหอม ล่าสุดค่ายฟอร์ด ลงทุนเพิ่มอีก 28,000 ล้านบาท หรือ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยลงทุนในส่วนของการปรับปรุงโรงงาน ติดตั้งเครื่องไม้เครื่องมือ การจ้างงานเพิ่ม เพื่อรองรับกับรถยนต์รุ่นใหม่ อย่าง ปิกอัพ ฟอร์ด เรนเจอร์ และรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ เจเนอเรชันใหม่ ที่จะผลิตเพื่อป้อนทั้งตลาดในประเทศและส่งออกไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลกในปีหน้า
สำหรับการลงทุนเพิ่มครั้งนี้ ทำให้ฟอร์ดเป็นหนึ่งในบริษัทยานยนต์ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของไทย ด้วยมูลค่าการลงทุนสะสมรวมกว่า 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 แสนล้านบาท ตลอดระยะเวลา 25 ปีของการดำเนินธุรกิจ การยกระดับกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยจะส่งเสริมบทบาทของประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางการผลิตสำคัญระดับโลกของฟอร์ด ทั้งที่โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (เอฟทีเอ็ม) ซึ่งฟอร์ดเป็นเจ้าของ และโรงงานร่วมทุน ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (เอเอที)
ยกระดับโรงงานในไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ชั้นนำระดับโลก
นางสาวยุคนธร วิเศษโกสิน ประธาน ฟอร์ด อาเซียน และตลาดเกิดใหม่ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการต่อยอดความมุ่งมั่นของฟอร์ดตลอดระยะเวลา 25 ปีในการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการยกระดับการดำเนินงานในไทยให้มีความทันสมัย พร้อมรองรับการผลิตฟอร์ด เรนเจอร์ เจเนอเรชัน ใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในรถฟอร์ดที่มียอดการผลิตสูงสุด และมียอดขายสูงสุดทั่วโลก รวมถึงฟอร์ด เอเวอเรสต์ เจเนอเรชันใหม่ ด้วย
เพิ่มการจ้างงานอีก 1,250 ตำแหน่ง
นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้ยังเป็นการเพิ่มกะการทำงานที่โรงงานเอฟทีเอ็ม ส่งเสริมให้มีการจ้างงานเพิ่มเติม 1,250 ตำแหน่ง ทำให้ฟอร์ดมีจำนวนพนักงานในประเทศไทยรวมกว่า 9,000 คน
นอกจากนั้นแล้วฟอร์ดได้สนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ด้วยเงินลงทุนกว่า 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 13,000 ล้านบาท เพื่อผลิตและยกระดับคุณภาพชิ้นส่วนด้วยแม่พิมพ์และอุปกรณ์การผลิตมาตรฐาน ก่อให้เกิดการจ้างงานของพันธมิตรทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก 250 ตำแหน่ง
โรงงานในไทยอยู่ในระดับเวิลด์คลาส
สำหรับการปรับปรุงโรงงานครั้งนี้ ทำให้โรงงานฟอร์ดในประเทศไทยมีประสิทธิภาพการผลิตเทียบเท่าโรงงานระดับแถวหน้าของโลก เพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตรถได้หลากหลายรูปแบบในสายการผลิตเดียว อีกทั้งฟอร์ดยังได้เพิ่มหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจำนวน 356 ตัว เพื่อเสริมกำลังการผลิตที่โรงงานเอเอที และเอฟทีเอ็ม
โดยหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นนี้ จะนำมาใช้ในส่วนงานประกอบตัวถัง และงานพ่นสี ซึ่งจะทำให้ฟอร์ดมีจำนวนเครื่องจักรในส่วนงานประกอบตัวถังที่โรงงานเอฟทีเอ็มและเอเอที เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34 เป็นร้อยละ 80 และร้อยละ 69 ตามลำดับ
การลงทุนในครั้งนี้ ยังถือเป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่นำเทคโนโลยีตรวจสอบพื้นผิวหรือสแกนบ็อกซ์ มาใช้ตรวจสอบรถทั้งคันในระหว่างขั้นตอนการประกอบรถได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน และรวดเร็วกว่าเดิมถึง 5 เท่า เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น
นายวิชิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟอร์ดได้ยกระดับความสามารถในการผลิตรถกระบะที่โรงงานเอฟทีเอ็ม ให้ครอบคลุมการผลิตรถรุ่นย่อยต่างๆ โดยโรงงานจะผลิตตัวถังรถกระบะได้หลากหลายรูปแบบ เช่น แบบตอนเดียว ตอนครึ่ง และแบบ 4 ประตู ได้ในสายการผลิตเดียว เพิ่มความคล่องตัวในการวางแผนและจัดสรรตารางการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด และลดระยะเวลาในการส่งมอบรถให้ลูกค้าอีกด้วย
กำลังการผลิตเพิ่มรวม 2.7 แสนคัน
ปัจจุบันฟอร์ด มีโรงงาน 2 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (เอฟทีเอ็ม) ซึ่งฟอร์ดเป็นเจ้าของ มีกำลังการผลิต 1 แสนคัน และโรงงานร่วมทุน ออโต้อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (เอเอที) มีกำลังการผลิต 1.3 แสนคัน โดยโรงงานทั้ง 2 แห่งผลิตรถ 2 รุ่นหลักของฟอร์ด ฟอร์ด เรนเจอร์ และ ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ซึ่งหลังจากลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ จะทำให้ทั้ง 2 โรงงานมีกำลังการผลิตรวม 2.7 แสนคัน (เอฟทีเอ็ม 1.35 แสนคัน ,เอเอที 1.35 แสนคัน )