ที่ผ่านมา ไทยฮอนด้าส่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า EV รุ่น Honda PCX EV และ Honda Benly e ไปให้สถาบันการศึกษา บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ไปวิ่งทดสอบ (เริ่มโครงการกับมหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีตั้งแต่ปี 2561) และร่วมมือกับพันธมิตรในรูปแบบ B2B (Business to Business) อย่างดีทแฮล์ม (DKSH) ปตท. (OR) ไปรษณีย์ไทย foodpanda เพื่อนำไปใช้ในกิจการและเก็บข้อมูล รวมส่งให้ทุกรายแล้ว 116 คัน
ล่าสุด บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด เตรียมประกอบรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Honda Benly e ภายในไตรมาสที่ 4 ปีนี้ และอยู่ในขั้นตอนดำเนินการเพื่อเซ็นบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับกรมสรรพสามิต เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากโครงการสนับสนุน EV ในวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ทั้งเสียภาษีสรรพสามิตแค่ 1% รับเงินอุดหนุน 18,000 บาทต่อคัน ภายใต้เงื่อนไขตัวรถ เช่น ความจุแบตเตอรี่ต้องเกิน 3 KWH และราคาขายไม่เกิน 150,000 บาท
โดยไทยฮอนด้า วางแผนนำเข้าชิ้นส่วนแบบ Knock Down มาประกอบ Honda Benly e ในไทยล็อตแรกจำนวน 300 คัน และในปี 2566 จะเพิ่มเป็นหลักพันคัน พร้อมตั้งราคาขายใกล้เคียงเพดานที่รัฐบาลกำหนดคือ 1.5 แสนบาท แต่รูปแบบการขายในช่วงแรกยังเป็นแบบ B2B หรือยัง ไม่ได้ทำตลาดให้แก่ลูกค้าทั่วไป
นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด กล่าวว่า ตามเป้าหมายของฮอนด้า มอเตอร์ ภายในปี 2040 (พ.ศ. 2583) การผลิตรถยนต์จะเปลี่ยนเป็น EV แต่ในส่วนของรถจักรยานยนต์คงเปลี่ยนไม่ได้ทั้งหมด ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้มี EV ที่ตรงกับความต้องการของลูกค้า และสอดคล้องกับนโยบาย EV ของรัฐบาลแต่ละประเทศ ที่มีความแตกต่างกัน เช่น ไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากให้รัฐบาลสนับสนุนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าคือ การช่วยลดภาษีนำเข้าชิ้นส่วนที่จะนำมาประกอบ EV ที่ปัจจุบันยังมีอัตราที่สูงมาก เช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐาน อย่างสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่เน้นส่งเสริมให้แก่รถยนต์ไฟฟ้า แต่ในส่วนรถจักรยานยนต์ EV ยังไม่มีความชัดเจน
“เราพร้อมลงทุนขยายตู้สลับแบตเตอรี่เพิ่มเป็น 50 แห่ง ขณะที่ตลาดรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าปีนี้ คาดว่าจะมียอดจดทะเบียนถึง 1 หมื่นคัน จากที่ผ่านมา 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 65) ทำได้ประมาณ 5,000 คัน ส่วนตลาดรวมปี 2565 จะกลับมาอยู่ในระดับ 1,740,000 คัน เติบโต 8% เมื่อเทียบกับปี 2564 ส่วนไทยฮอนด้าตั้งเป้าหมายไว้ 1,359,000 คัน เพิ่มขึ้น 10%” นายคิมูระ กล่าว
ทั้งนี้ มีบริษัทรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่เซ็น MOU กับกรมสรรพสามิต เพื่อผลิต EV ในไทยแล้ว คือ บริษัท เดโก กรีน เอนเนอร์จี จำกัด โดยขอรับสิทธิ์จำนวน 8 รุ่น ราคาขาย 50,000-100,000 บาท วางกำลังผลิตในปี 2565 ไว้ 32,000 คัน และเพิ่มเป็น 56,000 คันในปี 2568 ปัจจุบัน เดโก มียอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศไทย
ด้านคู่แข่งจากญี่ปุ่น ไทยยามาฮ่า มอเตอร์ นำเข้ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า Yamaha E01 จำนวน 40 คัน มาวิ่งทดสอบในไทย ใช้แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 4.9 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทาง 130 กิโลเมตร ตามมาตรฐาน WMTC คลาส 1 ของยุโรป ขณะที่มอเตอร์ไฟฟ้าให้กำลัง 11 แรงม้า แรงบิด 30.2 นิวตันเมตร ความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 104 กิโลเมตร พร้อมส่งให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้ทดสอบ เพื่อเก็บข้อมูล แต่ยังไม่มีแผนทำตลาดในไทย