ในงาน North American International Auto Show 2022 หรือ ดีทรอยต์ ออโต้โชว์ 2022 สหรัฐอเมริกา จัดระหว่างวันที่ 14-25 กันยายน 2565 นอกจากค่ายรถยนต์เจ้าถิ่นจะนำรถยนต์รุ่นใหม่มาเปิดตัวหลายรุ่นแล้ว ยังมีประเด็นข่าวที่น่าสนใจเมื่อ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี แสดงความชัดเจนในการทำตลาดปิกอัพ เรนเจอร์ พลังงานไฟฟ้า Ford Ranger EV โดยมีประเทศ ไทยเป็นฐานการผลิต
สำนักข่าว paultan.org ของมาเลเซีย รายงานว่า นายจอห์น ลอว์เลอร์ CFO ของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ยืนยันถึงแผนงานที่จะให้โรงงานในประเทศไทยผลิตรถพลังงานไฟฟ้า 100% ทั้ง ปิกอัพเรนเจอร์ Ford Ranger EV และ เอสยูวี เอเวอเรสต์ Ford Everest EV
“ประเทศไทยจะเป็น ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ที่ปลอดมลพิษ เมื่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลก เราจะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่และเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับเราในตลาดนอกอเมริกาเหนือ” นายลอว์เลอร์ กล่าว
ประเด็นนี้ยังได้รับการยืนยันจากนายพุทธิ ผาสุข ผู้ สื่อข่าวอาวุโสจาก กรังด์ปรีซ์ ที่ฟอร์ด ประเทศไทย เชิญให้ไปร่วมงานดีทรอยต์ ออโต้โชว์ 2022 เพียงหนึ่งเดียว
“ฟอร์ดเน้นยํ้าประเด็นให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจริง และปัจจุบันกำลังศึกษาแผนงานต่างๆ ทั้งเงินลงทุน และความคุ้มค่าในการผลิต การจัดหาชิ้นส่วน และตลาดส่งออกที่จะรองรับการผลิตดังกล่าวแต่ยังไม่ยืนยันเรื่องช่วงเวลาของการผลิตว่าจะเป็นเมื่อไหร่” นายพุทธิ กล่าวยืนยัน
ทั้งนี้ ในปี 2564 ฟอร์ด เปิดตัว ปิกอัพฟูลไซส์ EV รุ่น Ford F-150 Lightning เพื่อทำตลาดในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะถ่าย ทอดเทคโนโลยีมายังคอมแพกต์ปิกอัพ (เมืองไทยเรียกกระบะ 1 ตัน) อย่างเรนเจอร์ ซึ่งเป็นโกลบอลโมเดล และมีตลาดใหญ่ที่ไทย ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ตลอดจนตลาดยุโรป ที่แข่งกันกับ โตโยต้า ไฮลักซ์ และ นิสสัน นาวารา ซึ่งมีมาตรฐานการควบคุมการปล่อยไอเสียอย่างเข้มข้น
ปัจจุบันฟอร์ดมีโรงงานผลิตรถยนต์ในไทย 2 แห่ง ที่ จ.ระยอง คือ ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ร่วมทุนกับมาสด้า) และโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) โดยปี 2564 ประกาศลงทุนกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท เพื่อพัฒนาสายการผลิตรองรับ Ford NextGen ทั้งเรนเจอร์, เรนเจอร์ แร็พเตอร์ และเอเวอเรสต์
ฟอร์ดรายงานว่า การลงทุนดังกล่าวช่วยเสริมจุดแข็งด้านมาตรฐานการผลิตรถยนต์ระดับโลกให้กับโรงงานฟอร์ด ทั้ง 2 แห่งในประเทศไทย ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยที่ช่วยเพิ่มทั้งประสิทธิภาพในการผลิต ความยืดหยุ่นในการผลิตรถหลากหลายรุ่นบนสายการผลิตเดียวกัน
นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างงานในประเทศไทยเพิ่มอีกกว่า 1,250 ตำแหน่ง ควบคู่กับการเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์ในสายการผลิตอีกเกือบเท่าตัว โดยฟอร์ดได้ติดตั้งหุ่นยนต์ที่แผนกผลิตโครงสร้างตัวถังรถยนต์ แผนกพ่นสีรถยนต์ และแผนกประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ทั้งหมด 151 ตัว ช่วยยกระดับการทำงานด้วยเทคโนโลยีออโตเมชันอันทันสมัยจาก 34% เป็น 80%
ขณะที่โรงงานเอฟทีเอ็ม เป็นโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดตัวถังรถยนต์ พร้อมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีสแกนบอกซ์ สามารถตรวจสอบโครงสร้างตัวถังรถอย่างแม่นยำและรวดเร็วขึ้น 5 เท่า ตลอดจนแผนกพ่นสีรถยนต์ยังติดตั้งหุ่นยนต์สำหรับพ่นซีลเลอร์แบบอัตโนมัติ และตรวจวัดคุณภาพสีด้วยระบบสแกนสีอัตโนมัติควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจหาแม้จุดบกพร่องที่มีขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ฟอร์ด เป็นหนึ่งในค่ายรถยนต์ที่มีแผนประกอบ EV ในไทย นอกเหนือไปจากเมเจอร์แบรนด์ที่มีความชัดเจนอย่างเมอร์เซเดส-เบนซ์ เอ็มจี เกรท วอลล์ มอเตอร์ บีวายดี โตโยต้า และฮอนด้า