ดับฝันแผนอีวี

11 พ.ค. 2566 | 06:30 น.
อัปเดตล่าสุด :11 พ.ค. 2566 | 06:46 น.

ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของไทยสะดุด “บอร์ดอีวี” ดันมาตรการส่งเสริมไม่ต่อเนื่อง เสนอไม่ทันครม.นี้ “สุพัฒนพงษ์” โยนรัฐบาลใหม่พิจารณางบ เงินอุดหนุนซื้อรถอีวี และตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เอกชนหวั่นนโยบายลักกะปิดลักกะเปิดกระทบอุตสาหกรรมยานยนต์

แม้กระแสรถยนต์ไฟฟ้า EV ในไทยจะแรงต่อเนื่อง จากยอดจดทะเบียน 2,000 คันในปี 2564 กระโดดเป็น 10,000 คันในปี 2565 และปีนี้มีโอกาสขายเกิน 50,000 คัน แต่ในภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีรอยต่อในเชิงนโยบายจากการเลือกตั้งใหญ่และรอจัดตั้งรัฐบาลใหม่
 

บอร์ดอีวี ชงมาตรการใหม่ไม่ทัน ครม.

ที่ผ่านม นโยบาย EV ของประเทศไทยถูกขับเคลื่อนด้วยหัวเรือใหญ่ คือ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ(บอร์ดอีวี) นำโดย “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่เห็นชอบหลักการสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หลายมาตรการ แต่ผลการประชุมดังกล่าวยังไม่ได้เสนอเข้าไปยังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ โดยเฉพาะในการประชุมครม.แบบอำนาจเต็มในช่วงกลางเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการเป็นการเร่งด่วน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า มาตรการทั้งหมดผ่านมติบอร์ดอีวี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ที่ผ่านมาเสนอมาตรการนี้ไปยังครม.ไม่ทันก่อนรัฐบาลยุบสภา และอาจมีความเสี่ยงที่จะทำให้แผนการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค อาจต้องสะดุดไป

ทั้งนี้ บอร์ดอีวี ได้กำหนดนโยบายการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรักษาฐานการผลิตยานยนต์ของประเทศให้สอดรับกับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดยานยนต์ในประเทศและต่างประเทศ โดยกำหนดเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ในปี 2573 หรือ 30@30 เพื่อวางทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยของภาครัฐที่ชัดเจน

 

รวมทั้งได้ออกมาตรการครอบ คลุมหลายด้าน อาทิ มาตรการส่งเสริมการลงทุน มาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวีและชิ้นส่วน การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และไม่ใช่ภาษี เป็นต้น

ในการประชุม “บอร์ดอีวี” ครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ได้เห็นชอบมาตรการสนับสนุนเพิ่มเต็มในการขับเคลื่นยานยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ การสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ โดยการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% และยกเว้นอากรนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปี การสนับสนุนเงินให้กับผู้ประกอบการผลิตแบตเตอรี่วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท รวมถึงมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ ระยะที่ 2(EV3.5) ระหว่างปี 2567-2568 เป็นต้น

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้เสนอมติที่ “บอร์ดอีวี” ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอความเห็นหน่วยงานต่า ๆ ก่อนบรรจุเป็นวาระเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.พิจารณาแล้ว ส่วนจะเสนอในรูปแบบใดระหว่างรูปแบบแรก คือเสนอให้ ครม.รับทราบมติการประชุมบอร์ด EV ล่าสุดทั้งฉบับ ที่มีทั้งมาตรการขอใช้งบประมาณสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประทศไทย ก็ต้องดูเรื่องการของบประมาณสนับสนุนก่อน เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับรัฐบาลรักษาการ ซี่งต้องไปดูก่อนว่าอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง

ส่วนรูปแบบที่สองคือ เสนอ ครม.เห็นทราบเฉพาะมาตรการบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นหน่วยงานปฏิบัติ เช่น กรมสรรพสามิต หรือ กรมศุลกากร ที่มีข้อติดขัดจากการปฏิบัติตามมาตรการสนับสนุนรถ EV หรือ EV3 ที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานต่อได้ โดยจะยังไม่เสนอมาตรการที่ต้องมีการขอรับสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐให้กับ ครม.รับทราบ

“จะเสนอ ครม.เป็นเรื่องๆ เพื่อทราบดู แต่ก็ต้องถามความเห็นจากสำนักเลขาฯครม.ว่าควรจะเสนออย่างไรจะเสนอเข้าไปทั้งฉบับหรือว่า เสนอเฉพาะมาตรการที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้ ตอนนี้ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าเสนอเข้าไปหมดก็อาจตกทั้งฉบับ ตกทั้งกระดานจะยุ่งไปใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของโรงงานแบตเตอรี่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องขอสนับสนุนงบประมาณ เป็นเรื่องที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งต้องรอรัฐบาลใหม่ เรื่องนี้ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเสนอไปอาจโดนทักท้วงเหมือนตอนเรื่องของค่าไฟฟ้าก็ได้” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
 

เอกชนหวั่นนโยาย EV สะดุด

นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า หากนโยบายรัฐบาลในระยะยาวไม่มีความชัดเจน จะทำให้นักลงทุนหน้าใหม่ขาดความมั่นใจ

ส่วนเอ็มจี ยังเดินหน้าลงทุนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่งทำพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานผลิตแบตเตอรี่ในจังหวัดชลบุรี และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ปลายปีนี้

“โรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าของเอ็มจีในไทย ล่าช้ากว่าแผนเดิมของเราเพราะเปลี่ยนจากแนวคิดที่จะหาซัพพลายเออร์มาทำให้ เปลี่ยนเป็นการลงทุนเอง ดังนั้นอยากให้รัฐบาลชุดใหม่มีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจ และดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว

แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า หวังว่าหลังการเลือกตั้งใหญ่ จะสามารถฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลได้เร็ว เพราะไม่เช่นนั้นระบบเศรษฐกิจมหภาคจะสะดุด เพราะอนุมัติงบประมาณไม่ได้ เศรษฐกิจไม่เดิน

“ขณะเดียวกัน ความต่อเนื่องของนโยบายในอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นสิ่งสำคัญ แม้จะมีหน่วยงานราชการทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่แล้ว แต่ไม่มีอะไรยืนยันว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้านโยบายตามรัฐบาลชุดเดิมทั้งหมด” แหล่งข่าวกล่าว

นาย Yin Tongue ประธาน เชอรี่ ออโตโมบิล ประเทศจีน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ เปิดเผยว่า ต้นปี 2567 บริษัทเตรียมนำเข้า EV มาทำตลาดในไทยก่อน ส่วนแผนลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย บริษัทกำลังศึกษา แต่จะมีความชัดเจนหลังจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่


หวั่นงบไม่พอขอเพิ่ม 3,000 ล้าน

นายเกรียงไกร พัฒนาภรณ์ รองอธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมได้เตรียมขอจัดสรรงบประมาณเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการส่งเสริมการใช้รถไฟฟ้าหรือ รถอีวี ในปี 2566/67 ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนเม็ดเงินให้แก่ผู้ซื้อรถอีวีตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยรถยนต์อีวีจะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน ส่วนรถจักรยานยนต์อีวี ได้รับ 1.8 หมื่นบาทต่อคัน

“งบประมาณที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับการจ่ายชดเชยในปี 2565/66 จำนวน 2,900 ล้านบาท จะสิ้นสุดในช่วงเดือนก.ย.นี้ ซึ่งเราประเมินว่า งบดังกล่าวจะเพียงพอ แต่หากว่า มีการเร่งโอนรถเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปีงบก็น่าจะไม่พอซึ่งขณะนี้ เราเตรียมของบเพิ่มอีก 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในปี 2566/67”

กรมฯได้รับรายงานว่า มีแนวโน้มความสนใจรถอีวีที่ดี คาดว่าจะทำให้ยอดจองรถอีวีที่ขอรับมาตรการส่งเสริมภาครัฐสะสมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 5 หมื่นคัน ใช้งบอีกประมาณ 4 หมื่นล้านบาท

ส่วนมาตรการอีวีในช่วงปี 2567-2678 นั้น คาดว่า จะมีการปรับรายละเอียดใหม่ ซึ่งจะต้องรอคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของรัฐบาลใหม่อีกครั้ง เช่นเดียวกับ โครงสร้างภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่สำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีด้วย
 

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3886 วันที่ 11 -13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566