แม้ เมอร์เซเดส-เบนซ์ จะขึ้นไลน์ประกอบ EV รุ่น EQS ในไทย และนำเข้า EQB จากโรงงานฮังการีมาทำตลาด โดยรุ่นแรกราคา 7.2 ล้านบาท ยอดขายยังไม่สูงมาก แต่รุ่นหลังที่ราคา 3.02 ล้านบาท ได้การตอบรับดีจนต้องสั่งรถเข้ามาเพิ่ม
ขณะที่การประกอบ EV รุ่นใหม่ๆ ในไทย ยังอยู่ในแผนงานต่อไป แต่ด้วยสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ขณะที่คู่แข่งแบรนด์ยุโรปต่างใช้แผนนำเข้า EV จากจีน มาขายแบบเป็นล่ำเป็นสัน ทั้ง BMW และVolvo(บริษัทแม่คือ Geely จีน)
ด้วยกำลังการผลิตที่เหลือล้น และมีต้นทุนที่ควบคุมได้กว่าการขึ้นไลน์ประกอบในไทย พร้อมภาษีนำเข้า 0% ตามกรอบ FTA จีน-อาเซียน จึงไม่มีเหตุผลที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จะปิดโอกาสจากช่องทางธรรมชาตินี้
เช่นเดียวกับ Audi AG ที่ล้มเลิกแผนการตั้งโรงงานในไทย ก็ไม่ปฎิเสธถึงการนำเข้า EV จากเพื่อนบ้านที่มี FTA เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม สองค่ายรถเยอรมนี เมอร์เซเดส-เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ต่างมีแผนเพิ่ม EV เข้ามาในพอร์ตอย่างต่อเนื่อง แต่จะดำเนินการคู่ขนาน ทั้งขึ้นไลน์ประกอบในไทย และนำเข้าจากต่างประเทศ
ล่าสุด เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย นำเข้า EV ตระกูล EQE มาเปิดตัวอีก 2 รุ่น กับตัวถังเอสยูวีและซีดานตัวแรง Mercedes-AMG
สำหรับ EQE 350 4MATIC SUV AMG Dynamic นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าคู่หน้า-หลัง ให้กำลังรวม 292 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 765 นิวตันเมตร อัตราเร่งจาก 0-100 กม./ชม. ทำได้ 6.6 วินาที
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนความจุ 89 kWh ระยะทางวิ่ง 558 กม.ต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง (WLTP) รองรับการชาร์จกระแสตรง (DC Charge) สูงสุด 170 kW ส่วนกระแสสลับ (AC Charge) 11 kW ราคา 5,650,000 บาท
ด้านตัวแรง Mercedes-AMG EQE 53 4MATIC+ นำเข้าจากเยอรมนี ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าคู่ กำลังรวม 625 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 950 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. 3.5 วินาที
แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน 90.6 kWh วิ่งได้ 526 กม.ต่อการชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้ง (WLTP) ออนบอร์ด DC Charge รับได้สูงสุด 170 kW และ AC Charge 22 kW ราคาขาย 5,950,000 บาท
นายมาร์ทิน ชเวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า แผนงานหลักของเมอร์เซเดส-เบนซ์ คือการนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าทุกรูปแบบ ตอกย้ำเป้าหมายระดับโลกในการทำให้รถยนต์ทุกรุ่นในพอร์ตเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% ในปี 2030
สำหรับประเทศไทย เมอร์เซเดส-เบนซ์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการเดินหน้าขับเคลื่อนตลาด ด้วยการนำเสนอรถยนต์พลังงานไฟฟ้า 2 รุ่นแรก อย่าง EQS และ EQB และในปี 2024 บริษัทมีแผนที่จะขยายพอร์ต EV อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำโมเดลธุรกิจ Retail of the Future มาใช้
นายชเวงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนธุรกิจ Retail of the Future จะเน้นความโปร่งใสของราคา และข้อเสนอจากผู้จำหน่ายฯ ที่ต้องเท่าเทียมกัน การจัดการความพร้อมของสต็อกรถยนต์ และการยกระดับประสบการณ์ของลูกค้า ภายใต้มาตรฐานของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย โดยที่ผู้จำหน่ายฯ จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในทุกขั้นตอนของการบริการลูกค้า
โมเดลธุรกิจนี้ ลูกค้าทุกคนจะได้รับการเสนอราคาและข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุดจากเมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย และสามารถเข้าถึงสต็อกของรถยนต์ทุกรุ่นจากทุกผู้จำหน่ายฯ ไม่ว่าจะเป็นผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์
ขณะเดียวกัน ทางผู้จำหน่ายฯ จะอยู่ในทุกขั้นตอนการซื้อรถของลูกค้า ตั้งแต่การทำใบเสนอราคา การทดลองขับ จนไปถึงขั้นตอนการสั่งจอง และการส่งมอบรถยนต์ โดยที่ผู้จำหน่ายไม่ต้องแบกรับภาระด้านการจัดการคลังสินค้า และสต็อกรถยนต์ เพราะรถจะถูกนำส่งมาจากคลังสินค้ากลางของเมอร์เซเดส-เบนซ์
“นั่นหมายความว่าผู้จำหน่ายฯ จะไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสต็อกและความเสี่ยงด้านต้นทุนของธุรกิจ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์นี้ จะทำให้ผู้จำหน่ายฯ มีประสิทธิภาพมากขึ้นในด้านการบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า” นายชเวงค์ กล่าวสรุป