แม้ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า EV ช่วง 4 เดือนแรกของปี (ม.ค.-เม.ย.67) จะทำได้ 26,377 คัน เพิ่มขึ้น 41.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว(18,599 คัน) ทว่าเป็นการโตมาจากยอดมกราคมเดือนเดียวกว่า 13,000 คัน ซึ่งเป็นเส้นตายในการจดทะเบียน EV นำเข้าตามโครงการ EV 3.0
จากนั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา ยอดขาย EV หลายค่ายไม่ได้พุ่งสูงตามเป้าหมาย หรือเฉลี่ยมียอดจดทะเบียนรถใหม่ทั้งตลาดประมาณ 4,000 คันต่อเดือน แล้วถ้ายังคงตัวเลขระดับนี้ไปเรื่อยๆ ความคาดหวังที่จะเห็นยอดขาย EV เกิน 1 แสนคันในปีนี้ คงเป็นไปได้ยาก
ดีลอยท์ เผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนไทย ที่มีต่อรถยนต์ไฟฟ้า และประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ประจำปี 2567 ซึ่งหนึ่งในผลสำรวจที่สอดคล้องกับยอดจดทะเบียน EV ในไทย พบว่า ความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า EV ของคนไทยลดลงเหลือ 20% จาก 31% ในปี 2566
ขณะที่รถเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ยังเป็นทางเลือกอันดับ 1 แต่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ จาก 36% เหลือ 32% ส่วนรถยนต์ไฮบริด (HEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจาก 10% ในปี 2566 เป็น 19% ในปีนี้
โดยแนวโน้มความนิยมของคนไทยต่อ ICE สอดคล้องกับ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และจีน แต่สวนทางกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ที่ความนิยมใน ICE ดีดตัวสูงขึ้น
สำหรับเหตุผลที่คนไทยเลือกใช้ EV พบว่า 73% ต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลง ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันกับผู้ที่เลือกใช้ HEV และ PHEV ส่วนคนที่เลือกใช้รถ ICE 78% ต้องการตัดความกังวลด้านระยะทางและการชาร์จ
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ความกังวลของคนไทยที่มีต่อ EV ลดลงทุกมิติ ทั้ง ประเด็นสถานีชาร์จสาธารณะไม่เพียงพอ และระยะทางในการขับ
ด้านประเด็น EV กับการชาร์จไฟฟ้านอกบ้านของคนไทย มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก โดยสถานีบริการน้ำมัน ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปีที่แล้วเป็น 34% ในปีนี้ ส่วนความคาดหวังจากระยะทางวิ่งต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ขยับสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งข้อมูลในปี 2567 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 44% มีความเห็นว่าระยะทางต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง ควรอยู่ระหว่าง 300-499 กิโลเมตร
นายซอง จิน ลี Automotive Sector Leader ดีลอยท์ เซาท์อีสต์เอเชีย กล่าวว่า การเก็บข้อมูลจากผู้บริโภคทั่วโลก ช่วยให้เราเห็นมุมมองใหม่ๆ ทั้งในระดับโลก และ ระดับภูมิภาค ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการยกระดับคุณค่าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์
“ปี 2024 รถไฮบริด (HEV) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากในกลุ่มผู้บริโภคชาวไทย เนื่องจากประหยัดน้ำมัน ลดความกังวลเรื่องระยะทาง และลดการปล่อยมลพิษ นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ช่วยให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ สามารถปรับตัวรองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของลูกค้า และปรับกลยุทธ์การขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายลี กล่าว
ทั้งนี้ ดีลอยท์ ประเทศไทย สำรวจความเห็นจากกลุ่มผู้บริโภคประมาณ 1,000 คน ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566 และวิเคราะห์ร่วมกับผลการสำรวจข้อมูล Thailand Automotive Consumer Survey 2024 ที่สำรวจในช่วงเดือนเมษายน 2567 กับผู้บริโภคคนไทยอีก 330 คน