จีลี่ แตกสาแหรกธุรกิจรถยนต์ในไทย ทั้งที่ จีลี่ โฮลดิ้ง กรุ๊ป มาลุยเองโดยตรงกับแบรนด์ ZEEKR และ RIDDARA ขณะที่รถยนต์แบรนด์ GEELY แต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์อย่าง ธนบุรีพานิช ให้ช่วยดูแลตลาด เตรียมเปิดตัวปลายเดือนพฤศจิกายน นี้ ไม่รวมแบรนด์ในเครืออย่าง VOLVO LOTUS ที่แยกการดำเนินงานออกไปอีก
ในส่วน RIDDARA หรือในจีนเรียกว่า RADAR เป็นแบรนด์น้องใหม่ของ จีลี่ โฮลดิ้ง กรุ๊ป เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2565 กับรถปิกอัพพลังงานไฟฟ้า EV ที่พัฒนาบนพื้นฐานรถยนต์นั่ง (ใช้แพลตฟอร์มร่วมกับรถแบรนด์อื่นๆ ของจีลี่)
การดำเนินธุรกิจในไทย จดทะเบียนตั้งบริษัท บริษัท ริดดารา ออโต้โมบาย (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท เตรียมทำตลาดรถยนต์โมเดลแรกคือ RIDDARA RD6 โดยนำเข้าทั้งคันจากจีน ไม่เสียภาษีนำเข้า (แจ้งว่าเป็นรถยนต์นั่ง) แต่มาเสียภาษีสรรพสามิต ตามรถปิกอัพตัวถังดับเบิลแค็บที่ 10%
RIDDARA RD6 แบ่งการขายเป็น 4 รุ่นย่อยคือ รุ่นมอเตอร์เดี่ยวขับเคลื่อนล้อหลัง แบตเตอรี่ลิเธียมไอออน NMC ความจุ 63 kWh และ 73 kWh ส่วนรุ่นขับเคลื่อนสี่ล้อ มีทั้งแบตเตอรี่ 73 kWh และ 86 kWh โดยรุ่นเริ่มต้นราคา 8.99 แสนบาท ส่วนตัวท็อป 1.299 ล้านบาท
RIDDARA RD6 นำเข้าทั้งคันมาจากโรงงานของ จีลี่ โฮลดิ้ง กรุ๊ป ที่เมืองชานตง ประเทศจีน และการดำเนินธุรกิจในช่วงแรกยังไม่มีแผนตั้งโรงงานผลิตในไทย
ทั้งนี้ ก่อนการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ริดดารา ออโต้โมบาย (ประเทศไทย) นำรถพวงมาลัยซ้ายไปออกโรดโชว์ก่อนที่เซ็นทรัล พระราม 2 ช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา พร้อมเปิดให้ลงทะเบียนจองสิทธิ์ซื้อ ด้วยการให้สิทธิประโยชน์คือ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 0.99% นาน 48 เดือน เมื่อดาวน์ 25% และแถมโฮมชาร์จเจอร์ พร้อมค่าบริการติดตั้ง โดยจำกัดที่ 1,000 คันแรก
โดย ริดดารา รายงานว่า RIDDARA RD6 เป็นรถกระบะ EV รูปแบบใหม่และมาตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เจาะกลุ่มผู้รักการเดินทางและชื่นชอบการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งการเปิดตัวครั้งแรกในไทย ยังเป็นการโชว์ศักยภาพของการเป็นแบรนด์รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภายใต้บริษัทรถยนต์ระดับโลกอย่าง จีลี่ โฮลดิ้ง กรุ๊ป
นอกจาก RIDDARA RD6 แล้ว (บริษัทแม่มาลงทุนเอง) ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ยังมี EV แบรนด์ใหม่เปิดตัวเพิ่มเติมทั้ง DENZA ในเครือ BYD และ LEAPMOTOR ของกลุ่มสเตลแลนติส รวมถึงรถแบรนด์ GEELY โดย 3 รายหลัง แต่งตั้งดิสทริบิวเตอร์ให้เข้ามาช่วยขยายเครือข่ายธุรกิจในไทย คือ เรเว่ ออโตโมทีฟ พระนครยนตรการ และ ธนบุรีพานิช ตามลำดับ