ฮอนด้า อุ้ม นิสสัน ตั้งบริษัทโฮลดิ้งรวมธุรกิจ มิตซูบิชิ จ่อสมทบ สู้ศึก EV โลก

24 ธ.ค. 2567 | 07:41 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2567 | 08:18 น.

ฮอนด้า นิสสัน เซ็น MOU เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการรวมธุรกิจ โดยตั้งบริษัทโฮลดิ้งใหม่ หวังแบ่งปันทรัพยากร ควบคุมต้นทุนการพัฒนาและการผลิต สู้ศึกใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่

ฮอนด้า มอเตอร์ และ นิสสัน มอเตอร์ เตรียมรวมธุรกิจกัน ผ่านการตั้งบริษัทโฮลดิ้ง ซึ่งการเซ็น MOU วานนี้(23 ธ.ค.) เพื่อเปิดทางให้เริ่มเจรจา ศึกษารายละเอียดต่างๆ ร่วมกัน ทั้งนี้ เรโนลต์ ผู้ถือหุ้นใหญ่ของนิสสัน ให้ไฟเขียวในการดำเนินการ ขณะที่มิตซูบิชิ มอเตอร์ส พร้อมเข้าร่วมในการรวมธุรกิจนี้ด้วย

 

บริษัทโฮลดิ้งนี้ จะเป็นบริษัทแม่ของ ฮอนด้า มอเตอร์ และนิสสัน มอเตอร์ โดยต้องจับตาสัดส่วน และราคาการแลกหุ้น จะเป็นอย่างไร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน ปี 2568 และเข้าตลาดหลักทรัพย์โตเกียว เดือนสิงหาคม 2569

มาโกโตะ อูชิดะ - โทชิฮิโระ มิเบะ - ทาคาโอะ คาโตะ

การรวมธุรกิจนี้ ยังมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างฐานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในฐานะ "บริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนระดับโลก" โดยการรวมธุรกิจของฮอนด้า ทั้งรถยนต์ จักรยานยนต์และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ของฮอนด้า (Power Products) เข้ากับธุรกิจรถยนต์ของนิสสัน จะช่วยสร้างความน่าสนใจให้แก่แบรนด์ พร้อมส่งมอบนวัตกรรมที่น่าสนใจให้แก่ลูกค้าทั่วโลก

 

ตามข้อตกลงระหว่างฮอนด้าและนิสสัน ในการเริ่มพิจารณาการรวมธุรกิจผ่านการจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้ง (Holding Company) ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมลงนามกับฮอนด้าและนิสสัน โดยตั้งเป้าที่จะพิจารณาและสรุปผลการเข้าร่วมหรือการมีส่วนร่วมในการรวมธุรกิจระหว่างฮอนด้าและนิสสัน ภายในสิ้นเดือนมกราคม 2568

นายโทชิฮิโระ มิเบะ ผู้อำนวยการ ประธานกรรมการบริหาร และตัวแทนเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า "ฮอนด้าและนิสสันเริ่มพูดคุยและหารือกันตั้งแต่เมื่อวานนี้ โดยมีเป้าหมายเพื่อชี้แจงความเป็นไปได้ของการรวมธุรกิจภายในสิ้นเดือนมกราคม 2568 สอดคล้องกับการพิจารณาของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส

 

“อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในยุคแห่งการเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ของรอบศตวรรษนี้ เราคาดหวังว่า การรวมทรัพยากรและจุดแข็งของฮอนด้าและนิสสันเข้าด้วยกัน ทั้งเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่ได้พัฒนาขึ้นมา จะช่วยให้เราสามารถเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ด้านการขับเคลื่อนในระดับโลกได้อย่างรวดเร็ว ถ้ามิตซูบิชิ มอเตอร์สร่วมมือกับเรา การผนึกกำลังทั้ง 3 บริษัท จะช่วยให้เราสามารถก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำในการสร้างคุณค่าใหม่ทางด้านการขับเคลื่อนและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านการรวมธุรกิจได้”

ฮอนด้า นิสสัน ตั้งบริษัทโฮลดิ้งรวมธุรกิจ ฮอนด้า นิสสัน ตั้งบริษัทโฮลดิ้งรวมธุรกิจ

นายมาโกโตะ อูชิดะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นิสสัน มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า นับเป็นก้าวสำคัญของการร่วมมือทางธุรกิจ ที่จะมีส่วนในการกำหนดอนาคตของเรา การที่ทั้งสองบริษัทได้ผนึกกำลังกันในครั้งนี้ จะนำไปสู่การสร้างสรรค์และพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ที่สร้างคุณค่าได้มากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการอันเปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละบริษัท เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างและหลากหลายของลูกค้าที่ไม่มีบริษัทใดสามารถทำได้เพียงลำพัง

นายทาคาโอะ คาโตะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ตัวแทนเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในยุคของการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมยานยนต์ เราจะศึกษารูปแบบความร่วมมืออย่างดีที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์จากจุดแข็งของแต่ละบริษัทอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การหารือระหว่างฮอนด้าและนิสสันเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันได้ก้าวหน้าไปมาก

 

“เราได้ตัดสินใจเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือนี้ เชื่อว่าเราจะสามารถค้นพบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ได้ในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ รายละเอียดของการรวมธุรกิจเพื่อสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้ คาดว่าจะสามารถแจ้งเพิ่มเติมได้ในช่วงกลางปี 2568” นายคาโตะ กล่าวสรุป

ฮอนด้า นิสสัน ตั้งบริษัทโฮลดิ้งรวมธุรกิจ

จากการรวมธุรกิจของ ฮอนด้า นิสสัน มิตซูบิชิ ผ่านบริษัทโฮลดิ้งนี้ ได้ตั้งเป้าผลกำไรในอนาคตมากกว่า 6.5 แสนล้านบาท โดยมีเป้าหมาย และผลประโยชน์จากการรวมธุรกิจ ดังนี้

  • ลดต้นทุนในการพัฒนารถหนึ่งคัน และเพิ่มกำไรจากการใช้พื้นฐานการพัฒนาเดียวกัน ทั้งรถ ICE HEV PHEV และ BEV
  • เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาและการประสานต้นทุน ในรถยนต์เจเนอเรชันใหม่ ซึ่งรวมถึง software-defined vehicles (SDVs)
  • เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต
  • สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการวิธีการจัดซื้อ
  • บริหารจัดการต้นทุน ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพของการดำเนินงาน
  • ผสานฟังก์ชันการเงิน และการขายของทั้งสองบริษัท เพิ่มโซลูชั่นการขับเคลื่อนที่หลากหลาย รวมถึงบริการทางการเงินใหม่ๆ

 

สำหรับสถานการณ์ในเมืองไทย ฮอนด้าและนิสสัน ยอดขายร่วงหนักตามสภาพตลาด และโดนคู่แข่งจากจีนเข้ามาแย่งยอดขาย โดย 11 เดือนที่ผ่านมา ฮอนด้า ทำได้ 67,322 คัน ลดลง 20% นิสสัน 8,570 คัน ลดลง 43%

 

ส่วนโรงงานผลิตมีปรับแผนงานเหมือนกันคือ ฮอนด้า จะย้ายการผลิตรถยนต์ไปที่ จ.ปราจีนบุรี ทั้งหมด ขณะที่โรงงาน จ.อยุธยา จะหันไปทำชิ้นส่วน ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเตรียมการ ด้านนิสสัน โรงงานที่บางเสาธง จ.สมุทรปราการ จะยุติการผลิตที่โรงงาน 1 แล้วย้ายการผลิตไปที่โรงงาน 2

 

ทั้งนี้ ฮอนด้าและนิสสัน ถือเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับสองและสามของญี่ปุ่น ตามลำดับ รองจากโตโยต้า ในปี 2566 มียอดขายทั่วโลกรวมกัน 7.4 ล้านคัน