8 ม.ค.2566 - ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องตามกันต่อ สำหรับ ประเด็นดราม่า รฟท. ทุ่มงบ 33 บาท เปลี่ยนป้าย 'สถานีกลางบางซื่อ' หลัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สั่งสอบกระบวนการว่าจ้างบริษัทเอกชน พร้อมลั่น ! มี อำนาจเอาผิดหากพบเอื้อประโยชน์เอกชน-ฮั้วประมูล
แม้ก่อนหน้า การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.แจงละเอียดยิบ ถึง เหตุผลความจำเป็น และ ราคา 33 ล้านบาท ครอบคลุมส่วนงานไหนบ้าง? และเหตุใดต้องจ้างบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ เพื่อปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อตอบข้อสังสัยของสังคมแล้วก็ตาม
8 ข้อสังเกต การเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ
อย่างไรก็ดี นายเกษมสันต์ วีระกุล นักวิชาการอิสระ ได้ตอกย้ำถึง ความไม่ชอบมาพากล ในประเด็นดังกล่าวไว้ 8 ข้อสังเกตด้วยกัน โดยเฉพาะ ปมการขอพระราชทานชื่อใหม่ ดังนี้่
- รู้ทั้งรู้ว่าอย่างไรก็ต้องมีการขอพระราชทานชื่อ แล้วทำไมจึงไปเสียเงินทำป้าย “สถานีกลางบางซื่อ” เมื่อกลางปี 2564 ที่มีการเปิดใช้?
- การอ้างถึงสนามบินสุวรรณภูมิที่เป็นชื่อพระราชทานก็มีการเปลี่ยนชื่อจากสนามบินหนองงูเห่ามานั้น เท่าที่จำได้ ไม่เคยเห็นป้ายชื่อ “สนามบินหนองงูเห่า” ติดตั้งไว้ตรงส่วนไหนของสนามบิน มีการติดตั้งป้ายถาวรสนามบินหนองงูเห่าแล้วรื้อถอน แล้วทำป้ายใหม่เป็นสนามบินสุวรรณภูมิด้วยหรือไม่? (และเกิดความอยากรู้ขึ้นมาทันทีว่าถ้าเคยมีป้ายดังกล่าว ชื่อภาษาอังกฤษจะเขียนว่าอย่างไร?)
- ทั้งที่มีการเปิดใช้ตั้งแต่กลางปี 2564 แต่ทำไม กระทรวงคมนาคมและการรถไฟ ต้องรอจนเวลาผ่านไปเกือบปีที่จะทำเรื่องขอพระราชทานชื่อไปเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565?
- เมื่อมีการพระราชทานชื่อลงมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 แล้ว กระทรวงคมนาคมและการรถไฟ ใช้เวลานานถึง 3 เดือน 3 วัน ก่อนที่จะมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) และราคากลาง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2565 ทำไมใช้เวลานานมากขนาดนั้น? ทำไมมีการตั้งคณะกรรมการฯ ในวันหยุดราชการ 5 ธันวาคม? (รมว.ศักดิ์สยาม แถลงในสภาบอก 5 ธันวาคม เอกสารการรถไฟบอกวันที่ 6 ธันวาคม!!)
- ในขั้นตอนการประกาศแผนจัดซื้อ 21 ธันวาคม การประกาศราคากลาง 23 ธันวาคม และการประกาศผู้ชนะ 28 ธันวาคม ใช้เวลาเพียง 7 วันทำการ รวดเร็วมากจนประชาชนเกิดความสงสัย ในขณะที่กรรมการสอบที่ตั้งขึ้นมาสอบสวนความโปร่งใสกลับต้องใช้เวลา 15 วัน?
- จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีใครได้เห็น TOR เอกสารนี้อยู่ที่ไหน? ทำไมไม่เปิดเผยให้โปร่งใส?
- การรถไฟ ชี้แจงว่าที่ต้องเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดย “วิธีเฉพาะเจาะจง” เนื่องจากโครงการจัดทำป้ายฯ เป็นไปตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง และมีความเร่งด่วนจึงต้องมีการรีบดำเนินการให้เสร็จโดยเร็วที่สุดแต่จาก พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งอนุญาตให้ใช้ “วิธีเฉพาะเจาะจง” ไว้ในมาตรา 56 นั้นได้ระบุเรื่องความเร่งด่วนในมาตรา 56 (ง) ดังนี้ “มีความจำเป็นต้องใช้พัสดุนั้นโดยฉุกเฉินเนื่องจากเกิดอุบัติภัยหรือภัยธรรมชาติ หรือเกิดโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ และการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป หรือวิธีคัดเลือกอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง” คำถามคือ เงื่อนไขที่การรถไฟอ้างนั้น ตรงกับที่ระบุไว้ในพรบ.จัดซื้อจัดจ้าง อย่างไร?
" จากไทม์ไลน์ทั้งหมดข้างล่างนี้ จะเห็นได้ชัดเจนถึงการคิดที่ไม่รอบคอบ การจัดซื้อจัดจ้างที่อาจขัดต่อกฎหมายและไม่โปร่งใส ของกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทยเองทั้งสิ้น การชี้แจงแบบคลุมเครือแบบที่กำลังทำอยู่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นเพราะมีการพระราชทานชื่อลงมาจึงต้องมีการเปลี่ยนป้าย เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง"
ไทม์ไลน์การเปลี่ยนป้ายสถานีกลางบางซื่อ
- สิงหาคม 2564 เปิดใช้งานพร้อมป้ายชื่อถาวร
- 8 มิถุนายน 2565 ขอพระราชทานชื่อ
- 2 กันยายน 2565 พระราชทานชื่อ
- 20 กันยายน 2565 คมนาคมสั่งการรถไฟให้เปลี่ยนชื่อ
- 5 ตุลาคม 2565 คมนาคมสั่งการรถไฟให้เปลี่ยนชื่อ ครั้งที่ 2
- 5 ธันวาคม 2565 การรถไฟตั้งคณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงาน (TOR) และราคากลาง
- 21 ธันวาคม 2565 ประกาศแผนการจัดซื้อ
- 23 ธันวาคม 2565 ประกาศราคากลาง
- 28 ธันวาคม 2565 ประกาศผู้ได้รับเลือก