กรณีเด้งฟ้าผ่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หรือ DSI “ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมา หลังนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ลงนามในคำสั่งที่ 24/2566 เรื่อง มอบหมายให้ข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และรักษาราชการแทน
โดยให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีดีเอสไอ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และสลับให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ แทน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เด้งฟ้าผ่า “ไตรยฤทธิ์” พ้นดีเอสไอ สลับ "สุริยา" นั่งรักษาการแทน
แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า เหตุผลของการมีคำสั่งด่วนเด้ง นายไตรยฤทธิ์ พ้นเก้าอี้อธิบดี ดีเอสไอ อาจมาจากปัญหาด้านการบริหารงานที่บกพร่อง เพราะไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรหลายเรื่องได้ แม้ว่าการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจะไม่พบความผิดที่เกี่ยวข้องกับนายไตรยฤทธิ์โดยตรง แต่หลายกรณีกลับพบเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระทำความผิด แต่ท้ายที่สุดนายไตรยฤทธิ์ กลับไม่ดำเนินการอะไร
ตัวอย่างเช่นกรณีที่นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ออกมาเปิดโปงขบวนการทุจริต โดยเชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมเป็นขบวนการทุจริตในการเรียกรับสินบนจากผู้ต้องหาหลายคดีของดีเอสไอ กว่า 25 คน หรือก่อนหน้านี้ก็ยังมีกรณีที่นายอัจฉริยะ เคยยื่นขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบ นายไตรยฤทธิ์ ในกรณีที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าให้การช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาพ้นผิดคดีขโมยลิฟท์หลวงไปขายให้รับร้านซื้อของเก่าด้วย
“จริง ๆ แล้วมีเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับดีเอสไอหลายสิบเรื่อง แต่นายไตรยฤทธิ์ ยังไม่ได้ทำอะไร ถือเป็นการบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ จึงต้องออกคำสั่งเด้งฟ้าผ่าในครั้งนี้” แหล่งข่าว ระบุ
ประวัติ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์
นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2508 ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเกิดภายใต้เป็นครอบครัวหมอ เนื่องจากพ่อรับราชการเป็นนายแพทย์ และแม่เป็นนางพยาบาล ส่วนการศึกษา เรียนจบคณะแพทยศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และจบการศึกษาสูงสุด วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
ประวัติการทำงาน
ปี 2532 – 2536 นายแพทย์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
ปี 2536 – 2538 นายแพทย์ 5 หัวหน้ากลุ่มงานอุบัติเหตุและนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลศูนย์สุราษฎร์ธานี สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข
ปี 2541 นายแพทย์ 6 หัวหน้ากลุ่มงานการรักษา ศูนย์มะเร็งสุราษฎร์ธานี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
ปี 2547 นายแพทย์ 8 วช. ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ปี 2549 – 2555 นายแพทย์ 8 วช. หัวหน้ากลุ่มนิติเวชคลินิก สำนักนิติวิทยาศาสตร์บริการสถาบันนิติวิทยาตร์
ปี 2551 นายแพทย์ 8 วช. ปฏิบัติงานในฐานะหัวหน้ากลุ่มนิติจิตเวช สำนักนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ปี 2551 – 2554 ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนิติเวช (นายแพทย์ 9 วช.) สำนักนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ปี 2554 – 2559 ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานนิติวิทยาศาสตร์ (อำนวยการสูง) สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ปี 2559 - 2561 รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม (นักบริหารระดับต้น)
ปี 2561 - 2563 รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม (นักบริหารระดับต้น)
ปี 2563 ผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม (นักบริหารระดับสูง)
ปี 2564 ครม. แต่งตั้งเป็น อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)