ท่ามกลางดราม่าสังคม เขย่าวงการนักธุรกิจหน้าใหม่ 'เม พรีมายา' ข้อหาโฆษณาเกินจริง ปมกำเงิน 6 พันบาท ลงทุน 3 เดือน รวยกำไร 15 ล้านบาท จนนำไปสู่บุกค้น ก่อนเจ้าตัวติดต่อเข้าพบตำรวจ เคลียร์ตัวเอง
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดประเด็นเช่นนี้ เพราะในอดีต มีหลายๆกรณีเกิดขึ้นคล้ายคลึงกัน ภายใต้ข้อหา คำโฆษณาเกินจริง ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้า หรือ เชื้อเชิญลงทุนทำธุรกิจ เช่น กรณี พิธีกรดัง กาลาแมร์ ขายอาหารเสริม หรือ ถั่งเช่ารักษาสารพัดโรค เป็นต้น
ทั้งนี้ หลังประกาศกฎโฆษณาฉบับใหม่ การใช้ข้อความที่เกินจริงพิสูจน์ไม่ได้ อาจต้องระวังมากขึ้น ในหมู่ พ่อค้า-แม่ค้า คนทำธุรกิจ เพราะหากฝ่าฝืน จะมีโทษปรับและจำคุกไม่น้อย
โดย เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา เรื่อง แนวทางการใช้ข้อความโฆษณาที่มีลักษณะเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันยากแก่การพิสูจน์ และแนวทางการพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงเกี่ยวกับข้อความโฆษณา พ.ศ.2565 โดยประกาศดังกล่าวให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ( 13 ม.ค. 2566 ) เป็นต้นไป
สาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าว คือ ระบุ ข้อ 3 การใช้ข้อความโฆษณาไม่ว่าจะกระทำทางสื่อโฆษณาใดก็ตาม จะต้องมีข้อความเป็นภาษาไทยที่สามารถเห็น ฟัง หรืออ่านได้ชัดเจนตามประเภทของสื่อโฆษณา ไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ถ้าข้อความโฆษณาทำเป็นภาษาต่างประเทศต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับข้อความที่เป็นสาระสำคัญด้วยทุกครั้ง
ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่าย ดังนี้
ตัวอย่างข้อความที่อาจจะเข้าข่ายโฆษณาเกินจริง
หากใช้ข้อความที่มีการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง หรืออ้างอิงผลวิจัย สถิติ ต่างๆ ต้องมีข้อมูลยืนยันชัดเจนและหากถูกเรียกตรวจสอบในการพิสูจน์ข้อความโฆษณาต้องรวบรวมหลักฐานดำเนินการภายใน 15 วัน
ทั้งนี้ หากคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือเกินความจริงดังกล่าว คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาอาจออกคำสั่งให้นำข้อมูลมาพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้ และในกรณีเร่งด่วน คณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาจะออกคำสั่งระงับการโฆษณาดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ได้
ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์