พ.ต.ท.ธนธัส กังรวมบุตร สารวัตรกลุ่มงานสนับสนุนทางไซเบอร์ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.) เปิดเผยในงานเสวนา เรื่อง การหลอกลวงในโลกออนไลน์ ปัญหาโลกแตกกระทบสุขภาพจิต ภายใต้โครงอบรมเชิงปฏิบัติการ นักข่าวพิราบน้อย รุ่นที่ 25 จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ว่า ขณะนี้ สอท. เป็นห่วงสถานการณ์ภัยไซเบอร์ หลังพบข้อมูลว่าคนไทยถูกหลอกลวงทุกวัน
คนไทยถูกหลอกวันละ 100 ล้าน
ล่าสุดมีสถิติการแจ้งความออนไลน์ผ่านระบบ www.thaipoliceonline.com ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 31 มกราคม 2566 มีเรื่องร้องเรียน 207,678 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 29,244 ล้านบาท
“ในทุก ๆ วัน ณ เวลานี้ ยังพบว่ามีการหลอกลวงออนไลน์เฉลี่ยวันละ 100 ล้านบาท และคนร้ายกว่า 95% ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย แต่เป็นอาชญากรรมข้ามชาติอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแทบทั้งสิ้น โดยเมื่อเหยื่อถูกหลอกลวงสำเร็จเงินทั้งหมดจะถูกถ่ายโอนไปยังต่างประเทศทันที และตามคืนมาได้เพียงแค่ 10% เท่านั้น ซึ่งเงินที่ถูกโอนออกไปจะกลับถูกฟอกกลับเข้ามาผ่านการซื้ออสังหาฯ จำนวนมาก”
คนร้ายพัฒนาการหลอกลวง
พ.ต.ท.ธนธัส ระบุว่า ภัยการหลอกลวงทางออนไลน์ปัจุบันมีการพัฒนาไปมาก โดยอาชญากรส่วนใหญ่ทำงานเป็นทีมลักษณะออแกไนซ์ มีทั้งฝ่ายจิตวิทยา ฝ่ายซอฟแวร์ วางแผนการหลอกลวงแบบเป็นขั้นเป็นตอน จนทำให้คนส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อได้ง่าย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ถูกชักจูงได้ง่าย เช่น การชักชวนให้ลงทุนและมีค่าตอบแทนพิเศษสูงในช่วงแรก
เตือนคนวัย 45 เสี่ยงหลอกหาคู่
ส่วนปัญหาการถูกหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชันหาคู่ ปัจจุบันเป็นภัยไซเบอร์ที่น่าห่วงในประเทศไทย ปัจจุบันปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับเหยื่อที่เป็นผู้หญิงวัย 45 ปีขึ้นไป ที่มีปัญหาครอบครัว หรือผู้ที่มีคู่ครองที่ทำงานหนัก ไม่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมานาน คนกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ถูกคนร้ายเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจ ทำให้สูญเสียตัวตนโดยไม่รู้ตัว จากนั้นจึงเริ่มเข้ามาผูกพันมากขึ้น และเริ่มหลอกให้โอนเงินไป
พ.ต.ท.ธนธัส ยอมรับว่า ภัยการหลอกลวงหาคู่ในปัจจุบัน มีรายงานคนไทยถูกหลอกเป็นจำนวนมาก คนร้ายมักเข้ามาสืบประวัติของเหยื่อก่อนผ่านโซเชียลมีเดีย ก่อนจะเข้ามาทำความรู้จัก โดยสามารถรับรู้ความชอบ ชีวิตส่วนตัว และสร้างเรื่องราวสมมุติขึ้นให้เหยื่อหลงรักและเจอหลอกลวง
“เรื่องแอปหาคู่สร้างความปวดหัวให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมาก เนื่องจากการลงทะเบียนแอป 90% ไม่มีการยืนยันตัวตน ทำให้ตรวจสอบยาก คนร้ายมักขโมยรูปภาพมาสร้างตัวตน สร้างบัญชี และเข้ามาศึกษาข้อมูลเหยื่อจากสื่อที่ใช้แล้วเปิดเป็นสาธารณะ ก่อนเข้ามาขอเป็นเพื่อนคุย ก่อนจะคุยเรื่องที่เหยื่อชอบ ให้รู้สึกว่าตรงใจ หากใครเจอกรณีแบบนี้อยากรู้ว่า นั่นไม่ใช่คนที่พระเจ้าส่งมาให้เรา แต่เป็นเพราะคนร้ายจะศึกษาคน ๆ หนึ่งมาก่อน แล้วสร้างสตอรี่ สร้างเรื่องสมมติขึ้นมา”