thansettakij
รู้จัก "อุเทนถวาย" รร.ช่างก่อสร้างแห่งแรก ก่อนถูกย้ายออกนอกพื้นที่

รู้จัก "อุเทนถวาย" รร.ช่างก่อสร้างแห่งแรก ก่อนถูกย้ายออกนอกพื้นที่

16 ก.พ. 2566 | 09:22 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ก.พ. 2566 | 09:42 น.

ทำความรู้จักสรร.ช่างก่อสร้างแห่งแรกของไทย มทร.ตะวันออก "อุเทนถวาย" ก่อนถูกคำสั่งให้ย้ายออกนอกพื้นที่ หลังจากหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จุดเดือดระเบิดขึ้นมาอีกครั้ง หลังศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน ของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขต “อุเทนถวาย” กว่า 500 คน รวมตัวชุมนุมคัดค้านเรื่องการถูกคำสั่งศาลปกครองให้ย้ายออกจากพื้นที่ หลังจากหมดสัญญาเช่าพื้นที่กับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2546 

ประเด็นปัญหานี้ยืดเยื้อมายาวนานหลายสิบปี หลังจากโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ในอดีตทำสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 – 2546 โดยที่ผ่านมาได้มีการเจรจาขอคืนพื้นที่มาตั้งแต่ ปี 2518 เพื่อนำพื้นที่กว่า 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ไปพัฒนาตามมาสเตอร์แพลนของจุฬาฯ ที่ได้เตรียมการเอาไว้ก่อนหน้านี้

โดยการรวมตัวครั้งล่าสุดนี้ กลุ่มนักศึกษาได้ทำกิจกรรมและชูป้ายแสดงข้อความคัดค้าน พร้อมทั้งยื่นหนังสือ ต่อ รศ.ดร.ฤกษ์ชัย ฟูประทีปศิริ รักษาการอธิการบดี มทร.ตะวันออก และนายกสภา มทร.ตะวันออก เพื่อปฏิเสธการย้ายออกจากพื้นที่

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขต “อุเทนถวาย” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขต “อุเทนถวาย”

รู้จัก มทร. วิทยาเขต "อุเทนถวาย"

"อุเทนถวาย" เป็นชื่อเรียกที่หลายคนคงคุ้นหูกันมาอย่างยาวนานในฐานะของสถาบันการศึกษาชื่อดังย่านปทุมวัน ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง โรงเรียนเพาะช่างก่อสร้างอุเทนถวาย หรือ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย  

ก่อนโอนมาเป็นวิทยาเขตในสังกัดวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา และได้เปลี่ยนชื่ออีกครั้งในปี 2533 เป็นสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย จากนั้นจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก โดยปัจจุบัน เปิดสอนในสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาต่าง ๆ ดังนี้

  • สาขาวิศวกรรมโยธา
  • สาขาวิศวกรรมก่อสร้าง
  • สาขาวิศวกรรมเคมี
  • สาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม
  • สาขาสถาปัตยกรรมภายในภายนอก
  • สาขาออกแบบอุตสาหกรรม
  • สาขาเทคโนโลยีโลจิสติกส์และการจัดการระบบขนส่ง
  • สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
  • สาขาการบริหารงานก่อสร้าง
  • สาขาการจัดการโลจิสติกส์ และซัพพลายเซน

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขต “อุเทนถวาย” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขต “อุเทนถวาย”

โรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของไทย

โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย ถือเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย เปิดการเรียนในปี 2476 โดยมีอาจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรมเป็นอาจารย์ใหญ่ ต่อมาในปี 2483 ทางโรงเรียนได้เริ่มก่อสร้างอาคารอำนวยการ ซึ่งเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กหลังแรกของโรงเรียน 

โดยใช้ครูอาจารย์ของโรงเรียนเป็นผู้ฝึกฝนดูแลนักเรียนช่างก่อสร้างรุ่นแรก ๆ เป็นแรงงานในการก่อสร้าง ตามเทคนิควิธีและวัสดุก่อสร้างที่หาได้ในยุคสมัยนั้น การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้อาคารในปี 2484 หลังจากเข้าใช้อาคารดังกล่าวได้ไม่ถึง 1 ปี ประเทศไทยเข้าสู่สงครามมหาเอเชียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) กองทหารญี่ปุ่นได้เข้ายึดสถานที่โรงเรียนสำหรับใช้เป็นที่ทำการและที่พักในช่วงสงคราม 

จนกระทั่งในปี 2489 ทางโรงเรียนจึงได้รับมอบสถานที่คืนอย่างเป็นทางการ โดยโรงเรียนมีสภาพเสียหายอย่างหนัก ทว่าอาคารอำนวยการเป็นอาคารเพียงไม่กี่หลังของโรงเรียนที่รอดจากการถูกทิ้งระเบิด หลังจากนั้นอาคารถูกใช้เป็นสำนักงานบริหารของโรงเรียนเรื่อยมาจนกระทั่งโรงเรียนยกระดับเป็นวิทยาลัย 

ต่อมาในช่วงปี 2533 – 2534 ได้มีการย้ายสำนักงานบริหารไปยังอาคาร 7 ที่สร้างขึ้นใหม่ นับแต่นั้นเป็นต้นมาอาคารอำนวยการได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นอาคาร 1 และถูกใช้เป็นที่ทำการสมาคมผู้ปกครองและครูอุเทนถวาย โดยชั้นบนของอาคารซึ่งเป็นห้องประชุมยังเป็นที่เก็บอัฐิปูชนียบุคคลของวงการช่างก่อสร้าง ครูใหญ่ และอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวายเอาไว้อีกด้วย

 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขต “อุเทนถวาย” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก (มทร.) วิทยาเขต “อุเทนถวาย”

 

สัญลักษณ์ของ “อุเทนทวาย”

ภายในวงกลมเป็น รูปดอกบัวบาน 8 กลีบ ล้อมรอบดอกบัวบาน  8 กลีบ หมายถึง ทางแห่งความสำเร็จมรรค 8 และความสดชื่น เบิกบาน ก่อให้เกิดปัญญาแผ่ขจรไปทั่วสารทิศ 

ภายใต้ดอกบัวเป็น ดวงตราพระราชลัญจกรบรรจุอยู่ หมายถึง สัญลักษณ์และเครื่องหมายประจำพระองค์พระมหากษัตริย์ของรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์เป็นผู้พระราชทานนามว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก”

บนตรารูปวงกลม มีพระมหาพิชัยมงกุฎครอบและมีเลข 9 อยู่ หมายถึง รัชกาลที่ 9 ด้านล่างของตราวงกลมทำพับกรอบโค้งรองรับ ชื่อ “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก” 

คั่นปิดหัวท้ายของกรอบด้วยลวดลายดอกไม้พิมพ์ประจำยามทั้งสองข้าง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง แจ่มใส เบิกบาน

 

ข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย