สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดการประกวดบทความข่าวเชิงวิเคราะห์ (ลับคมความคิด) ประจำปี 2565 “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์” โดยผลการประกวดบทความประเภทสื่อสิ่งพิมพ์ “ฐานเศรษฐกิจ” สามารถคว้ารางวัลมาได้ถึง 2 รางวัล ได้แก่
รางวัลที่ 1 : เรื่อง จับพิรุธ “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” กับเม็ดเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสีย โดย น.ส.อนัญญา จั่นมาลี
รางวัลที่ 2 : เรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก โดย นายวสวัตติ์ โอดทวี
สำหรับรางวัลบทความดังกล่าว สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารแห่งประเทศไทย และจากสถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการใช้ชื่อ “รางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์” ซึ่งเป็นการเชิดชูเกียรติประวัติ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในฐานะที่เป็นปราชญ์ทางเศรษฐกิจ โดยมีการจัดการประกวดบทความต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 เพื่อพัฒนาทักษะในการนำเสนอข่าวด้านเศรษฐกิจ และคนในสังคมส่วนใหญ่ได้หันมาให้ความสนใจกับข่าวเศรษฐกิจมากขึ้น
จับพิรุธ “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม”
สำหรับเนื้อหาของบทความ เรื่อง จับพิรุธ “ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม” กับเม็ดเงินลงทุนที่ภาครัฐต้องสูญเสีย ซึ่งได้รับรางวัลที่ 1 นั้น มีเนื้อหาเกี่ยวกับนโยบายเมกกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาลในการลงทุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก (งานโยธา) ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวมงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กิโลเมตร ในรูปแบบ PPP Net Cost มูลค่าโครงการ 142,789 ล้านบาท
แม้ว่าที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 จะเห็นชอบการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกไปแล้ว และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เริ่มประกาศขายซองข้อเสนอให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถ
แต่ก็มีความไม่ชอบมาพากล ตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มเปิดประมูลโครงการฯ เรื่อยมาถึงขั้นตอนการประมูล และเกิดประเด็นปัญหาอย่างหลากหลาย จนนำมาสู่การล้มประมูลโครงการ และเปิดประมูลโครงการใหม่ในรอบที่ 2
ปัจจุบัน การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม แม้จะได้ตัวเอกชนผู้ชนะประมูลเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาข้อเสนอแล้วเสร็จ และสำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างดำเนินการตรวจพิจารณาร่างสัญญาร่วมลงทุนฯ โดย รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดในพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
โดยยังเหลือขั้นตอนการนำผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณา ต่อกระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอความเห็นชอบตามลำดับเพื่อลงนามในสัญญาต่อไป
อนาคตเศรษฐกิจไทย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ”
ส่วนบทความ เรื่อง อนาคตเศรษฐกิจไทย โอกาส-ความท้าทาย บนไพ่ “สามมหาอำนาจ” ที่ต้องเลือก ซึ่งได้รับรางวัลที่ 2 นั้น เนื้อหาบทความได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจมหภาค โดยเฉพาะการเข้ามาแสดงบทบาทสำคัญต่อสาธารณะในฐานะของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ด้วยการแสดงแสนยานุภาพและบทบาทบนภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังจากอาเซียน เป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและต้นทุนทางด้านทรัพยากรที่คุ้มค่าต่อการลงทุน
ขณะที่ประเทศไทยเองก็น่าจะได้รับอานิสงส์และตกเป็นเป้าสายตาของชาติมหาอำนาจไปด้วย เพียงแต่สิ่งหนึ่งที่ยังเป็นข้อกังวลใจในระดับนโยบาย นั่นคือ ประเทศไทยต้องบาลานซ์ชาติมหาอำนาจอย่างไรให้เกิดความสมดุล เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยถูกตรึงเอาไว้สามขาชาติมหาอำนาจ ประกอบด้วย
ขาที่ 1 คือ ความสัมพันธ์ทางด้านการเมืองความมั่นคงกับมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
ขาที่ 2 คือ ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกับมหาอำนาจญี่ปุ่น
ขาที่ 3 คือ ความสัมพันธ์ทางด้านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกันในอนาคตอย่างมหาอำนาจจีน
โดยการถ่วงน้ำหนักในการเลือกข้างใดข้างหนึ่งเพื่อสร้างแรงดึงดูดของชาติมหาอำนาจทั้งสามนับว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งภายใต้ภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองโลกในปัจจุบัน เพราะหากเพลี่ยงพล้ำเลือกข้างผิดหายนะจะเกิดขึ้นกับประเทศในทันที ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความสัมพันธ์
สำหรับบทความทั้ง 2 เรื่อง ซึ่งได้รับรางวัลป๋วย อึ๊งภากรณ์ ฐานเศรษฐกิจ จะนำรายละเอียดของบทความทั้งหมดมานำเสนอต่อไป