เมาค้าง วันสงกรานต์ "ลาป่วย" ได้หรือไม่ ?

14 เม.ย. 2566 | 10:47 น.
อัปเดตล่าสุด :14 เม.ย. 2566 | 11:54 น.

มาทำงานไม่ได้ เพราะ เมาเหล้า - แฮงค์เบียร์ ลาป่วย ช่วงสงกรานต์ ทำได้หรือไม่ เพจกฎหมายแรงงาน ตอบชัด เสี่ยงอาจถูกเลิกจ้าง

14 เมษายน 2566 - เรียกว่า "สงกรานต์" น่าจะเป็นเทศกาลที่สนุกที่สุดของคนไทย ที่มีแต่รอยยิ้ม และ เสียงหัวเราะ พร้อมกับการเล่นสาดน้ำเย็นๆในอากาศร้อนๆใส่กัน อีกทั้ง ยังเป็นช่วงเวลาของการพบปะญาติพี่น้อง สังสรรค์ กันในหมู่ครอบครัว และ เพื่อนฝูงแบบจัดหนักจัดเต็มตลอดวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน 13-17 เมษายนนี้ เนื่องจาก ครม.ได้ประกาศให้วันที่ 17 เมษายน เป็นวันหยุดพิเศษอีกด้วย ทำให้สงกรานต์ไทยปีนี้ หยุดยาวนานสมใจ ได้กินเลี้ยงสังสรรค์กันอย่างเต็มที่

เมาค้างสงกรานต์ ลาป่วยไม่ได้

อย่างไรก็ดี อาจต้องสติกันหน่อย เพราะแม้การเฉลิมฉลองในการพบปะสังสรรค์ก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้  แต่การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ต้องมีลิมิต หรือขอบเขต เพราะหน้าที่การงานรออยู่ ส่วนใครที่คิดจะใช้สิทธิ์ลาหยุดต่อ อ้างว่าป่วย อาจต้องคิดกันใหม่ ! ส่วนคนที่จะต้องเดินทางการเมาเหล้ายังเป็นการผิดกฎหมายอีกด้วย 

เมาค้าง วันสงกรานต์  \"ลาป่วย\" ได้หรือไม่ ?

จากข้อมูลของเพจ กฎหมายแรงงาน หยิบยก ฎีกา ๖๐๐/๒๕๓๑ ระบุว่า การดื่มเหล้าจนไม่สามารถไปทำงานได้ หรือมีอาการแฮงค์ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลาป่วยได้ เพราะการลาป่วยต้องเกิดจากร่างกายผิดปกติอันเกิดจากเชื้อโรค

โดยการดื่มสุรา หรือสารเสพติดไม่ถือเป็นการป่วย ซึ่งใครที่จะใช้มุขนี้ ต้องระวัง เพราะถือเป็นการลาป่วยเท็จ ซึ่งอาจเป็นผลให้ถูกเลิกจ้างได้  หากเป็นการละทิ้งหน้าที่ ไม่เกิน 3 วัน ( 1 หรือ 2 วัน) นายจ้างไม่สามารถเลิกจ้างได้ แต่ลงโทษอื่นๆ ได้ตามนโยบายของบริษัท  แต่ถ้าเกิดว่าเป็นเวลา 3 วัน หรือมากกว่า 3 วัน) สามารถถูกเลิกจ้างได้ เพราะลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันควรกรณีนายจ้างสงสัยว่าลาป่วยเท็จหรือไม่ นายจ้างสามารถสอบสวนได้ กฎหมายไม่ได้ห้าม ฉะนั้น ใครคิดจะใช้มุขนี้อาจต้องคิดเสียใหม่แล้ว...