" วันหยุดแรงงานแห่งชาติ " ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นอีกวันสำคัญ ของเหล่าคนใช้แรงงานทั่วโลก ขณะประเทศไทย นอกจาก สหภาพแรงงาน ก็ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นไทม์ไลน์ ประกาศข้อเรียกร้องในแง่ต่างๆจากรัฐแล้ว ในทางกฎหมายนั้น กำหนดชัดเจน ลูกจ้างทุกคน ต้องได้หยุดงานในวันดังกล่าว ภายใต้ สิทธิวันหยุดประจำปี แต่ วันแรงงาน ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการ ดังนั้นหน่วยงานราชการยังคงเปิดทำงานและให้บริการตามปกติในวันแรงงาน ส่วนที่หยุด จะมีเฉพาะ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานเอกชนเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน มีข้อถกเถียงมากมาย ข้อพิพาทระหว่างลูกจ้าง และ นายจ้าง ในการหยุดงานวันแรงงาน บางนายจ้างไม่ให้หยุดวันแรงงาน แต่ให้ไปหยุดวันอื่นชดเชยแทน ซึ่งสิ่งที่นายจ้างต้องรู้ คือ การกระทำเช่นนี้ อาจได้รับโทษทางอาญา ขณะ การยินยอมสมัครใจของลูกจ้างเอง ต่อการทำงานในวันหยุดแรงงานนั้น นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่ม 1 เท่าตัวตามกฎหมาย
ลูกจ้าง มีสิทธิได้หยุดงาน "วันแรงงาน" ทุกคน
เพจกฎหมายแรงงาน โดย รองศาสตราจารย์ตรีเนตร สาระพงษ์ ระบุข้อมูลไว้ว่า ...กฎหมายบังคับนายจ้างประกาศวันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน และ "บังคับให้หยุดวันแรงงาน" คือวันที่ 1 พฤษภาคม ส่วนอีก 12 วันเลือกจากวันหยุดราชการ วันหยุดทางศาสนา วันหยุดตามประเพณีท้องถิ่นได้
โดยย้ำว่าวันแรงงานไม่มีทางเลือก พนักงานหรือลูกจ้างต้องได้หยุด หรือถ้าไม่หยุดต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 แรง
ตามมาตรา ๒๙ ที่บัญญัติว่า "ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบเป็นการล่วงหน้าปีหนึ่งไม่น้อยกว่าสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด"
และถ้าไม่ให้หยุดมาตรา ๑๔๖ กำหนดโทษอาญากรณีนายจ้างผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๒๙ เอาไว้ให้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
ปัญหาต่อไป คือ เลื่อนไปหยุดวันอื่นได้หรือไม่ กรณีวันหยุดตามประเพณี เลื่อนไม่ได้ เพราะประเพณีเขาไม่เลื่อนตามไปด้วย เช่น วันมาฆะบูชา ทางศาสนาเขาไม่สามารถเลื่อนไปเวียนเทียนวันอื่นได้ เป็นต้น
บังคับหยุดวันอื่น แทนวันแรงงานไม่ได้ นายจ้างมีโทษทางกฎหมาย
วันแรงงานที่กฎหมายบังคับจะให้ไปหยุดวันอื่นแทนไม่ได้ เพราะกฎหมาย "บังคับ" และ "ล็อก" วันแรงงานเอาไว้ในประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง วันแรงงานแห่งชาติ โดยในข้อ ๓ กำหนดว่า "ให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ"
ดังนั้น การให้ไปหยุดวันอื่นแทนก็ต้องถือว่านายจ้างให้ทำงานในวันแรงงานต้องจ่ายเพิ่มอีก 1 แรง หรืออีก 1 เท่าของของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ซึ่งประกาศให้ทำงานในวันดังกล่าวไม่เสียไป หรือไม่เป็นโมฆะ
ทั้งนี้ หากนายจ้างไม่ปฎิบัติตาม ก็อาจมีโทษอาญาเพราะถือว่าไม่ได้ประกาศวันหยุดตามประเพณี ซึ่งเป็นวันแรงงาน และปัญหามันซับซ้อน เพราะนายจ้างจะประกาศวันหยุดอื่นแทนก็ไม่ได้ เพราะวันแรงงานถูก "ล็อก" ไว้แล้วว่าเป็นวันที่ 1 พฤษภาคม ส่วนลูกจ้าง สามารถร้องเรียนต่อแรงงานในเขตพื้นที่ โดยขอให้เจ้าหน้าที่ปกปิดเป็นความลับได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเปิดเผยชื่อผู้ร้องเรียนไม่ได้