เป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษ ที่ "ตำรวจรถไฟ" ได้ทำงานปฏิบัติหน้าที่ ดูแลความปลอดภัยบนขบวนรถไฟและสถานีต่าง ๆ ทั่วประเทศ จนกระทั่งเมื่อวานนี้ (16 ต.ค. 2566) จึงได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ลงตามแนวทางการปรับโครงสร้างตำรวจซึ่งกำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565
ฐานเศรษฐกิจ พาย้อนกลับไปดูประวัติ ที่มาของ "ตำรวจรถไฟ" กัน
กองตำรวจรถไฟ ได้ถูกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2437 หลังจากการจัดตั้ง กรมรถไฟหลวง ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) 3 ปี โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2443 ในเส้นทางรถไฟสาย กรุงเทพ-นครราชสีมา มีหน้าที่ป้องกันภัยรถไฟ และผู้โดยสาร จากการก่ออาชญากรรม ตลอดจนการป้องกันขับไล่สัตว์ป่าดุร้าย
ภายหลังราวปี พ.ศ. 2494-2500 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้ยกสถานะเป็น กองบังคับการ เพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่และอัตรากำลังพลให้เพียงพอต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเส้นทางเดินรถ สถานี และปริมาณการเดินรถและผู้โดยสารที่มากขึ้น ในปี 2548 ได้มีการโอนให้หน่วยมาสังกัดกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองบังคับการตำรวจรถไฟ ทำหน้าที่ร่วมกับพนักงานการรถไฟฯ อยู่เคียงข้างในการให้บริการประชาชน ดูแลรักษาความปลอดภัย ป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมบนขบวนรถไฟ ตลอดจนรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสถานีทุกแห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
สำหรับ การยุบเลิกตำรวจรถไฟในวันที่ 17 ต.ค.นี้ เป็นไปตามแนวทางการปรับโครงสร้างตำรวจ ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2565 มีผลให้ กองบังคับการตำรวจรถไฟ ถูกยุบเลิก โดยข้าราชการตำรวจในสังกัดตำรวจรถไฟ จะได้รับการแต่งตั้งแยกย้ายไปปฏิบัติหน้าที่ตามหน่วยงานต่าง ๆ ในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ ระหว่างนี้จะมีการจัดกำลังตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยบนขบวนรถไฟและชานชาลาเพื่อดูแลความปลอดภัยให้แก่ประชาชน
ปัจจุบันมีอัตรากำลังพลกว่า 738 นาย กระจายอยู่ใน 15 สถานีตำรวจรถไฟ (ส.รฟ.) ตามเส้นทางรถไฟ และมีหน่วยบริการอยู่ตามสถานีรถไฟ 40 แห่ง มี พล.ต.ต.ชัยรพ จุณณวัตต์ เป็นผู้บังคับการ (ผบก.รฟ.) คนปัจจุบัน
ข้อมูล/ภาพ กองบังคับการตำรวจรถไฟ, วิกีพีเดีย สารานุกรมเสรี