วันออกพรรษา 2566 ชมราหูอมจันทร์ "จันทรุปราคาบางส่วน" คลิกที่นี่  

28 ต.ค. 2566 | 17:30 น.

ทำความรู้จัก "จันทรุปราคาบางส่วน" หรือ ราหูอมจันทร์ ปรากฏการณ์ธรรมชาติหาชมยากเหนือท้องฟ้า ลุ้นเห็นพร้อมกัน วันออกพรรษา 2566 นี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 1.01 น. คลิกช่องทางรับชมสดฟรี ได้ที่นี่

วันออกพรรษาที่ปีนี้ตรงกับวันที่ 29 ตุลาคม 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ชวนชม จันทรุปราคาบางส่วน หรือที่คนไทยเราเรียกกันว่า ราหูอมจันทร์ ในวันออกพรรษา 2566 เหนือฟ้าเมืองไทย โดยจะเกิดขึ้นตั้งแต่เวลา 02.35 – 03.52 น. ซึ่งสังเกตเห็นได้ในช่วงเช้ามืด บริเวณทวีปยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ แปซิฟิก แอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย อาร์กติก แอนตาร์กติกา รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน

วิธีสังเกตจันทรุปราคา

ประเทศไทยเริ่มสังเกตได้ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.01 – 05.26 น. (เวลาท้องถิ่น ณ กรุงเทพมหานคร) ดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว เวลาประมาณ 01.01 น. แสงสว่างของดวงจันทร์จะลดลงเล็กน้อย สังเกตด้วยตาเปล่าได้ค่อนข้างยาก

จนกระทั่งเวลาประมาณ 02.35 น. ดวงจันทร์เข้าสู่เงามืดของโลก เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ดวงจันทร์เต็มดวงจะค่อย ๆ เว้าแหว่งไปทีละน้อย เงาโลกบังมากที่สุด เวลาประมาณ 03.14 น. ประมาณร้อยละ 6 ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ จนสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 03.52 น. รวมเวลาเกิดจันทรุปราคาบางส่วนนาน 1 ชั่วโมง 17 นาที

จากนั้นดวงจันทร์เข้าสู่เงามัวของโลกอีกครั้ง และสิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาโดยสมบูรณ์ในเวลาประมาณ 05.26 น.

วันออกพรรษา 2566 ชมราหูอมจันทร์ \"จันทรุปราคาบางส่วน\" คลิกที่นี่  

ลักษณะการเกิดจันทรุปราคา

จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์โคจรมาอยู่ในแนวระนาบเดียวกัน มีโลกอยู่ตรงกลางระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์ เกิดเฉพาะวันดวงจันทร์เต็มดวง หรือในช่วงข้างขึ้น 14 – 15 ค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามืดของโลกที่ทอดไปในอวกาศ

ประเภทของจันทรุปราคา (Lunar eclipse)

จันทรุปราคาเต็มดวง (Total lunar eclipse)

เกิดขึ้นเมื่อเงาของโลกบดบังแสงอาทิตย์ที่ส่องไปยังดวงจันทร์เกือบทั้งหมด เนื่องจากเส้นผ่านศูนย์กลางของโลกใหญ่กว่าของดวงจันทร์ 4 เท่า อย่างไรก็ตาม ยังมีแสงสว่างบางส่วนที่ลอดผ่านชั้นบรรยากาศโลกไปถึงดวงจันทร์ได้ ปรากฎการณ์นี้ทำให้เกิดการกรองแสงสีฟ้าออกไป จนเรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงคล้ายเลือด

จันทรุปราคาบางส่วน (Partial lunar eclipse)

เกิดขึ้นเมื่อพื้นผิวของดวงจันทร์เพียงบางส่วนเข้าไปในเงาของโลก สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าจันทรุปราคาเต็มดวง และมักเกิดขึ้นบ่อยถึงปีละสองครั้งเป็นอย่างน้อย เงาที่เกิดขึ้นบนพื้นผิวของดวงจันทร์อาจปรากฏเป็นสีแดงสนิมไปจนถึงสีเทาคล้ายเถ้าถ่าน ขึ้นอยู่กับองศาของการเกิดจันทรุปราคาครั้งนั้น

จันทรุปราคาเงามัว (Penumbral lunar eclipse)

เกิดจากดวงจันทร์ผ่านเข้าไปในบริเวณเงามัวของโลก ซึ่งเป็นเงาที่มีความสว่างมากกว่าเงามืดและมองเห็นได้ไม่ชัดเจนเท่า ยิ่งพื้นผิวของดวงจันทร์เข้าไปในเงามัวไม่มากนัก ก็จะยิ่งสังเกตเห็นได้ยาก ทำให้ไม่ค่อยมีการแจ้งถึงปรากฏการณ์นี้ให้คนทั่วไปได้ทราบ

ทั้งนี้ สำหรับประชาชนสามารถติดตาม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ตั้งแต่เวลาประมาณ 02.35-03.52 น. ชมสด คลิกที่นี่