3 พฤศจิกายน 2566 นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมหารือการกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษฯ ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานศาลยุติธรรม
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานได้มาประชุมอย่างครบถ้วน ซึ่งความเห็นในที่ประชุมครั้งนี้จะต้องนำเสนอต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาการกำหนดเป็น (ร่าง) กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีการครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ…. ต่อไป
โดยที่ประชุมวันนี้ เบื้องต้นพิจารณาการครอบครอง "เมทแอมเฟตามีน" หรือ "ยาบ้า" กำหนดไว้ไม่เกิน 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ใช้ครอบครองเพื่อเสพ
สำหรับขั้นตอนต่อไปจะต้องดำเนินการตามระเบียบกฎหมายของการออกร่างกฎกระทรวงโดยจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์ จากนั้นถึงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) และโดยทั่วไปจะมีการรับฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องด้านกฎหมายในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความเห็นถึงจะพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง จึงไม่สามารถระบุไทม์ไลน์การออกกฎกระทรวงฉบับนี้ที่ชัดเจนได้
ส่วนเหตุผลที่กำหนดให้ไม่เกิน 5 เม็ดนั้น อ้างอิงจากเหตุผลทางวิชาการทางการแพทย์ โดยในที่ประชุมวันนี้ มีตัวแทนจากกรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งให้รายละเอียดในเรื่ององค์ประกอบของตัวยา รวมถึงผลกระทบจากขนาดของยามาเป็นองค์ประกอบการพิจารณา ขณะเดียวกัน ก็มีการรับฟังจากผู้บังคับใช้กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และมิติทางสังคม ว่ากำหนดกี่เม็ดจะกระทบต่อชุมชนหรือการบำบัด
"กำหนดไว้ 5 เม็ดไว้ให้โอกาสกับผู้ที่ครอบครอง กฎหมายมีเจตนารมณ์เขียนไว้ว่า ให้สันนิษฐานไว้ใช้ในการครอบครองเพื่อเสพ การกำหนดส่วนนี้ทำให้คนทำงานทำงานง่าย สามารถแยกแยะเบื้องต้นเป็นเสพ ถ้ามากกว่า 5 เม็ดไม่ใช่เสพ
อย่างไรก็ตาม ถ้าการสืบสวนพฤติกรรมหรือการต่อเนื่องในการดำเนินการทางกระบวนการ ทราบว่า มีการจำหน่ายจ่ายแจกแม้ต่ำกว่า 5 เม็ดก็ผิดกฎหมาย เป็นผู้ค้าผู้ครอบครองผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นผู้เสพ" นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวและว่า ดังนั้น การประชุมวันนี้จึงมีมติเป็นเอกฉันท์กำหนดที่ไม่เกิน 5 เม็ด
อย่างไรก็ดี กรณีมีครอบครอบไม่เกิน 5 เม็ดซึ่งถือเป็นผู้เสพนั้นจะต้องเข้าบำบัดตามความสมัครใจ ถ้าไม่สมัครใจก็สามารถนำไปดำเนินคดีได้ในข้อหาครอบครองเพื่อเสพ คือ เสพมีโทษอยู่จำคุกไม่เกิน 1 ปีแต่ศาลจะลงโทษหรือไม่ลงโทษ หนักแค่ไหนก็ได้ไม่เกิน 1 ปีก็อาจส่งไปบำบัดได้ แต่ถ้าเป็นการครอบครอง ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือจำหน่ายมีโทษตั้งแต่ 1 – 10 ปีก็ต้องรับโทษ