จากกรณี ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เกี่ยวกับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น เป็นสัญญาณเตือนว่า หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการดังกล่าว จะต้องถูกตรวจสอบจาก ป.ป.ช. หรือไม่ และเป็นการใช้อำนาจเกินหน้าที่หรือไม่
นายนิวัติชัย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการคมชัดลึก ออกอากาศทางช่องเนชั่นทีวี ยืนยันว่าคำแนะนำของป.ป.ช. ต่อโครงการโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนั้น เป็นการทำตามพระราชบัญญัติ ป.ป.ช. ปี 2542 ซึ่งกำหนดให้มีอำนาจในการป้องกันการทุจริตด้วยไม่ใช่เพียงการปราบปรามอย่างเดียว จึงไม่ใช่การทำเกินหน้าที่
โดยในมาตรา 32 ระบุให้ คณะกรรมการป.ป.ช. มีอำนาจในการเสนอความเห็น และมาตรการ หรือข้อเสนอแนะไปยังคณะรัฐมนตรี หรือรัฐสภา องค์กรศาล อัยการ รวมถึงองค์กรอิสระต่างๆ และส่วนราชการ เพื่อดูข้อที่จะสุ่มเสี่ยง ต่อการเกิดการทุจริต รวมถึงมาตรา 35 ที่ระบุให้ป.ป.ช. ต้องทำหน้าที่ในการป้องปรามด้วย
ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดของข้อเสนอแนะ จะเห็นว่า ป.ป.ช. ไม่มีคำว่าห้ามดำเนินโครงการแจกดิจิทัล 10,000 บาท มีแต่เพียงความเสี่ยง และข้อเสนอแนะที่ให้รัฐบาลควรตระหนักถึง
โดยป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษารวบรวมความคิดเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของเศรษฐกิจ มาร่วมให้ความคิดเห็นและประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจ เช่นการระบุว่าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สร้างตัวคูณทางเศรษฐกิจได้เพียง 0.4% ก็เป็นข้อมูลที่ได้รับจากการวิเคราะห์จากหน่วยงานภาครัฐเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เป็นต้น ป.ป.ช. ไม่ได้คิดเองเออเอง
หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท สิ่งที่ป.ป.ช. ต้องพิจารณาก็คือการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือผู้ใดผู้หนึ่งหรือไม่ เช่นมีห้างห้างสรรพสินค้ารายเดียวที่ได้รับประโยชน์แทนที่จะเป็นร้านค้ารายย่อย หรือโชห่วย เป็นต้น ทั้งนี้ต้องดูเจตนาของผู้กระทำด้วยว่า เจตนาทุจริตหรือไม่
อย่างไรก็ดีต้องพิจารณาในข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ต่อจากนี้หากมีการร้องเรียนเกิดขึ้น แต่ใช่ว่าหากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. แล้วจะถูกดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งถือว่าเร็วเกินไป
หากเปรียบเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวที่ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือเตือนถึงรัฐบาล 2 ครั้ง โดยในครั้งที่ 1 เป็นการเตือนก่อนเริ่มโครงการเช่นเดียวกันกับโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้ แต่คำเตือนครั้งที่ 2 ในโครงการรับจำนำข้าว มีความหนักแน่นยิ่งขึ้น เนื่องจากเริ่มมีข้อมูลผู้ร้องเรียน และมีความผิดสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว และการที่ป.ป.ช. เคยส่งหนังสือเตือนถึง 2 ครั้งมาแล้ว เป็นปัจจัยประกอบในการชี้มูลความผิดโครงการรับจำนำข้าวด้วย เนื่องจากรัฐบาลยังฝืนดำเนินโครงการต่อเนื่องไป ประกอบกับข้อมูลข้อเท็จจริงอื่นๆ
หลังจากป.ป.ช.ได้มีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลแล้วนำมาสู่การตั้งคณะอนุกรรมการเพิ่มอีก 2 ชุดนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีว่ารัฐบาลมีการรับฟังข้อเสนอแนะ ซึ่งคอนเซปของรัฐธรรมนูญปี 2560 ทุกโครงการต้องโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้