จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์ การก่อสร้างถนนพระราม 2 ยาวนานกว่า 50 ปี ที่ยังไม่แล้วเสร็จสร้างผลกระทบ ให้กับประชาชนในหลายมิติ นำมาสู่การยืนยันจากอธิบดีกรมทางหลวงว่า การก่อสร้างดังกล่าวจะสามารถเปิดให้ทดลองใช้บริการภายในปี 2568
ดร.เอ้ สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ให้ สัมภาษณ์พิเศษ กับฐานเศรษฐกิจว่า ที่จริงแล้วการก่อสร้างสะพาน ไม่ใช่เรื่องที่ยาก เนื่องจากเป็นลักษณะการก่อสร้างที่มีมาเป็น 100 ปีแล้ว มีมาตรฐานในการก่อสร้างตามหลักวิศวกรรมอยู่แล้ว
ซึ่งการก่อสร้างเส้นทางถนนพระราม 2 ไม่แล้วเสร็จเสียทีนั้น ยังไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการก่อสร้าง ทั้งการเกิดอุบัติเหตุ ปัญหารถติด ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนในละแวกนั้นค้าขายลำบาก หรือการส่งผลทางความรู้สึกให้กับผู้ที่ต้องการจะเดินทางไปเที่ยวชะอำหรือหัวหิน ตัดสินใจที่จะไปเที่ยวที่อื่นแทน
สำหรับปัญหาที่ทำให้การก่อสร้างถนนพระราม 2 ไม่แล้วเสร็จ เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ
1. การวางแผนก่อสร้าง ซึ่งในอดีตผู้วางแผนก่อสร้างอาจไม่ได้คาดการณ์ว่า ถนนพระราม 2 จะเป็นกรุงเทพฯ แห่งใหม่ เป็นถนนสายหลักไปสู่ภาคใต้ ไปสู่แหล่งท่องเที่ยว เป็นจุดรวมทางเศรษฐกิจอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย
จึงทำให้เมื่อก่อสร้างไปแล้ว ต้องมีการปรับแผนการก่อสร้าง เช่น จากถนน 2 เลน ต้องขยายเป็น 4 เลน แต่ก็ยังมีความแออัดอยู่จึงต้องสร้างทางยกระดับเพิ่ม หรือต้องสร้างเกือกม้าสำหรับกลับรถ ตามจุดที่เป็นชุมชนหรือห้างสรรพสินค้าเป็นต้น
2. เกิดการซ่อมแซม ในระหว่างการก่อสร้าง
เนื่องจากถนนในส่วนที่สร้างเสร็จแล้ว เกิดการชำรุดจำเป็นต้องซ่อมแซมไปเรื่อยๆ สะท้อนถึงมาตรฐานในการก่อสร้าง จึงทำให้ประชาชนรู้สึกว่าสร้างไม่แล้วเสร็จเสียที
สิ่งที่สะท้อนถึงความไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้าง คือการเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งหากเป็นไปตามมาตรฐานการก่อสร้าง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลงอย่างแน่นอน
เส้นทางการก่อสร้างถนนพระราม 2 ส่วนใหญ่แล้วอยู่ภายใต้การดำเนินการของกรมทางหลวง ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร ช่วงเอกชัยถึงบ้านแพ้ว แต่ปรากฏว่ามีผู้รับเหมามากเป็น 10 ราย ซึ่งอาจเกิดจากความต้องการให้ดำเนินงานก่อสร้างไปพร้อมๆกัน ออกหน้างานได้ขนานกัน ทำให้การก่อสร้างมีโอกาสเสร็จเร็วขึ้น
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อมีผู้รับเหมาจำนวนมาก ทำงานไปพร้อมๆกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะให้ผู้รับเหมาทุกรายทำงานได้สอดประสานกัน ตลอดทั้งแนวถนนที่ดำเนินการก่อสร้าง รวมถึงการใช้พื้นที่ถนนในการก่อสร้างที่มีมาตรฐานไม่เท่ากัน เช่น เมื่อเจาะถนนเรียบร้อยแล้วควรต้องคืนพื้นที่จราจร ซึ่งผู้รับเหมาอาจคืนพื้นที่บ้างหรือไม่คืนบ้าง
ผู้รับเหมาบางรายอาจมีการปิดถนนบางจุด แต่ก็ส่งผลให้เกิดการจราจรติดขัด ดังนั้นในเส้นทางเดียวกันแต่มีผู้รับเหมาหลายราย จึงเป็นอุปสรรคในการบริหารโครงการ
นอกจากนี้ผู้รับเหมาแต่ละรายมีศักยภาพไม่เท่ากัน จึงทำให้การก่อสร้างถนนพระราม 2 ในบางช่วงก็ดูโอเค แต่บางช่วงก็ดูไม่โอเค ซึ่งความพร้อมของผู้รับเหมา 4 ด้าน ประกอบด้วย เงินพร้อม , แรงงานพร้อม , เครื่องจักรพร้อม และความสามารถในการบริหารที่พร้อม ดังนั้นหากได้ผู้รับเหมาที่มีศักยภาพมาดำเนินการก่อสร้าง จะใช้พื้นที่จราจรน้อย สามารถสร้างเสร็จได้ตามเวลา และไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
ประการถัดมา คือความเดือดร้อนที่เกิดจากการก่อสร้าง ซึ่งหากการก่อสร้างไม่ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ไม่มี PM 2.5 ไม่มีของหล่นใส่ มีวิธีกั้นการจราจรที่ดี แม้จะใช้เวลาในการก่อสร้างเพียงใดก็ไม่มีปัญหาเท่ากับการก่อสร้างที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชน ชนิดที่เรียกว่า มีการก่อสร้างวันนี้ก็เกิดความเดือดร้อนวันนี้ทันที
และการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งผู้รับเหมา ,กรมทางหลวง , แขวงทางหลวง และยังมีพื้นที่ทับซ้อนของ กทม. , พื้นที่ทับซ้อนของการทางพิเศษ และยังมีตำรวจทางหลวงคอยดูแลด้วย เมื่อมีหลายหน่วยงานก็จะเกิดการเกี่ยงความรับผิดชอบกัน จึงทำให้การจัดการวางแผนด้านจราจรมีประสิทธิภาพ
การก่อสร้างของกรุงเทพมหานครในหลายจุดยังคงมีความอันตราย เช่น อุบัติเหตุสะพานข้ามแยก ย่านลาดกระบังถล่ม มีผู้เสียชีวิต ซึ่งผ่านมาเกือบครึ่งปีแล้วยังไม่สามารถหาสาเหตุได้ จุดก่อสร้างดังกล่าวในปัจจุบันสกปรกและอันตราย ซึ่งไม่มีการดำเนินแก้ปัญหาโดย กทม. แต่อย่างใด
ปัญหาซ้ำซากเหล่านี้เกิดจากความไม่เอาจริงเอาจังของผู้นำ หากเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ผู้นำจะต้องมีความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหา เพราะถือเป็นภัยสาธารณะ
การแก้ปัญหาเหล่านี้ในประการแรก จะต้องนำแผนมากาง เพื่อดูว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะเมื่อได้เห็นแผนจะสามารถบอกได้ทันทีว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร
ประการที่ 2 ควบคุมให้การก่อสร้างเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นสิ่งที่เห็นได้จะต้องไม่เกิดปัญหาอย่างที่เป็นอยู่ ผู้นำต้องมีการติดตามงาน อยู่เป็นระยะๆ ไม่ใช่ว่ามีกระแสบ่นครั้งหนึ่ง ผู้นำก็ลงไปเร่งรัดครั้งหนึ่ง ลักษณะเช่นนี้ลูกน้องก็รู้แกว เข้าลักษณะ ลูกพี่มาก็จัดให้ ลูกพี่ไปก็เหมือนเดิม
ประการที่ 3 ต้องมีการประสานงาน กับทุกๆ หน่วยงาน เพื่อช่วยกันบรรเทาความเดือดร้อนจากการก่อสร้างให้กับประชาชน โดยผู้นำต้องเป็นคนกลางในการประสาน ผู้นำต้องเป็นคนฟังที่ดี และเป็นคนจี้งานอย่างมีศิลปะด้วย
ซึ่งการติดตามงาน หรือจี้งานของผู้นำที่ดีนั้นๆ ต้องไม่ใช่แค่การบ่นๆ แล้วหายไป แต่ต้องมีศิลปะ และพร้อมรับฟังปัญหาที่ต้องการให้ผู้นำช่วยเหลือ
สำหรับการเร่งรัด การก่อสร้างถนนพระราม 2 ให้สามารถเปิดใช้งานได้ในปี 2568 นั้น ดร.เอ้ มีมุมมองว่า อาจทำให้ผู้รับเหมาอ้างเป็นเหตุในการส่งมอบงานที่ไม่มีความเรียบร้อย สุดท้ายต้องไปปะผุกันภายหลัง ,เกิดอุบัติเหตุความสูญเสีย หรืออาจนำมาสู่ข้อเรียกร้องของผู้รับเหมาในการใช้พื้นที่จราจรเพิ่มขึ้นเพื่อเร่งดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนมากขึ้น
ดังนั้นผู้นำต้องมีความละเอียด ไม่ใช่ตั้งเป้าแต่ไม่เข้าใจ ซึ่งแม้จะมีเป้าหมายเป็นตัวตั้ง แต่ต้องกำชับในเรื่องของมาตรฐาน ผู้รับเหมาต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการก่อสร้างและใช้เครื่องจักรที่เหมาะสม
ดร.เอ้ กล่าวทิ้งท้ายถึงความสำคัญในการก่อสร้างอย่างปลอดภัย เพราะทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มักเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างอยู่บ่อยครั้ง จึงมีความจำเป็นที่จะต้อง เสนอร่างกฎหมาย เพื่อจัดตั้งองค์กรอิสระเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ในการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามตรวจสอบ หรือหากเกิดอุบัติเหตุจากการก่อสร้างขึ้น องค์กรนี้จะทำหน้าที่ในการหาสาเหตุตามหลักวิศวกรรม อย่างเป็นกลาง เพื่อหาผู้กระทำความผิด รวมถึงคุ้มครองดูแลผู้เสียหายให้ได้รับการชดเชยเยียวยาอย่างเป็นธรรม โดยสามารถร่วมลงชื่อ เสนอกฎหมายได้ที่ เว็บไซต์ suchatvee.com