จากกรณี สืบนครบาล จับกุมตัว นายเตชิต อายุ 24 ปี เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2567 ฐานมียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) ไว้ในครอบครอง โดยผิดกฎหมาย” และ “จำหน่ายเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) โดยผิดกฎหมาย
โดยผู้ต้องหามีพฤติการณ์ในการกระทำความผิดคือ ได้สั่งแบบเชื้อเห็ดขี้ควาย พร้อมอุปกรณ์มาเพาะขาย เนื่องจากพบข้อมูลตามสื่องสังคมออนไลน์ว่า ทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม มึนเมา เป็นประโยชน์ในทางอาชีพของตน ต่อมาได้ซื้ออุปกรณ์ และเช่าห้องทำสภาพแวดล้อมให้เหมาะในการเพาะเห็ดขี้ควาย ประกาศขายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยใช้ชื่อยี่ห้อว่า “Vimutti” และจัดส่งโดยบริษัทขนส่งเอกชน ได้รับผลตอบแทนในการส่งครั้งละประมาณ 1,000 บาท รวมมูลค่ากำไรที่ทำการจำหน่ายหลายแสนบาท
"เห็ดขี้ควาย" มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing บางแห่งเรียกเห็ดโอสถลวงจิต ในบรรดานักเที่ยวอาจเรียกเห็ดขี้ควายว่า “Magic Mushroom” หรือ Buffalo dung Mushroom สารเคมีที่สำคัญในเห็ดขี้ควาย มี 2 ชนิด คือ psilocybine และ psilocine ซี่งเมื่อ psilocybine เข้าร่างกายจะถูกเปลี่ยนเป็น psilocine ทั้ง psilocybine และ psilocine ไม่มีประโยชน์ทางการแพทย์
สามารถพบได้ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง
"เห็ดขี้ควาย" มีลักษณะ หมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน ก้านยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ
เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้ม และบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา
เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง คนที่ใช้มานานๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่างๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อยๆ
"เห็ดขี้ควาย" ทุกส่วน เช่นดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ด พืชที่ให้สาร psilocybine หรือ psilocine จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด แต่สาร psilocybine หรือ psilocine ถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
กรณี การกระทำเพื่อการค้า ,การก่อให้เกิดการแพร่กระจายในกลุ่มประชาชน ,การจำหน่ายแก่บุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี ,การจำหน่ายในบริเวณสถานศึกษา สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนาของหมู่ชนใด หรือสถานที่ราชการ ,การกระทำโดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ,การกระทำโดยมีอาวุธหรือใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,500,000 บาท
ถ้าการกระทำความผิดเป็นการกระทำต่อหญิงหรือต่อบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปี หรือเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้อื่นกระทำความผิดทางอาญา หรือเพื่อประโยชน์แก่ตนเองหรือผู้อื่นในการกระทำความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 300,000 บาทถึง 5,000,000บาท
ที่มา กองควบคุมวัตถุเสพติด