รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางยูทูปช่องฐานเศรษฐกิจ ชวนพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ วิเคราะห์สถานการณ์ กรณีบิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.
หลังจากคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ได้นัดประชุมพิจารณาสำนวนอุทธรณ์ต่อเนื่องในวันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม 2567 แต่ยังไม่มีคำวินิจฉัย เนื่องจากเอกสารในการพิจารณามีมากกว่า 1,000 แผ่น และมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติม
โดยคาดว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาในวันอังคารที่ 6 สิงหาคมเป็นอย่างเร็ว หรือวันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคมเป็นอย่างช้า แต่ในขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวลือออกมาว่าผลวินิจฉัย ก.พ.ค.ตร มีมติเอกฉันท์คำสั่งให้ออกจากราชการ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นไปโดยชอบตามกฏหมาย
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ให้มุมมองว่ากรณียังไม่มีบทสรุปออกมาจาก ก.พ.ค.ตร. ในวันที่ 1 สิงหาคม 2567 นั้นถือเป็นปกติ เพื่อความรอบคอบในการรับฟังพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งกรอบระยะเวลาการทำงานของก.พ.ค.ตร. มีถึง 120วัน การจะมีคำวินิจฉัยออกมาในช่วงวันที่ 6-8 สิงหาคม ถือว่ามีความรวดเร็วมากแล้ว
ส่วนเรื่องข่าวลือว่า 6 ต่อ 0 เห็นว่าคำสั่งให้ออกจากราชการ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นไปโดยชอบตามกฏหมายนั้น มองว่าเป็นข่าวที่ออกมาจากฝ่ายมากกว่า ที่ได้ประโยชน์
เพราะหาก บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งเหลืออายุราชการอีก 7 ปี ได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จะทำให้คนอื่นๆหมดสิทธิได้ขึ้นอีกหลายคน เช่น พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร. , พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ ,พล.ต.อ. ธนา ชูวงศ์ รอง ผบ.ตร.
รวมถึงระดับผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่จะขึ้นเป็นรอง ผบ.ตร. ก็ไม่ได้ขึ้นไปด้วย แต่ก็ต้องยึดตามหลักกฎหมายว่าไม่ได้มีข้อห้ามว่าผู้ขึ้นเป็น ผบ.ตร.เหลืออายุราชการนานเกินไป
เมื่อเกิดความกลัวว่าหาก บิ๊กโจ๊ก-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขึ้นเป็น ผบ.ตร.แล้วจะทำให้หลายๆคนไม่ได้ขยับขึ้น ก็เลยทำให้มีฝ่ายที่เชียร์ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เยอะ เพราะหาก พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ได้เป็น 1 ปี พล.ต.อ.ธนา ก็ได้เป็น พล.ต.อ.ไกรบุญ ก็ได้เป็น ผู้ช่วยต่างๆ ก็ได้เป็น
แม้กระทั่งก.ตร. หรืออนุกรรมการวินัย ที่บอกว่าคำสั่ง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะมีผลประโยชน์ด้วย เช่นการขอแต่งตั้งให้พรรคพวก เพื่อนฝูง ญาติพี่น้องตนเอง จึงเป็นที่มาของข่าวลือ
การที่เห็นว่าตนเอง ยืนยันว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ถูกมาโดยตลอด แต่จริงๆ แล้ว ไม่ได้อยู่ข้างฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่เพียงว่าพิจารณาไปตามข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงเพื่อให้พี่น้องประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ฟัง ซึ่งตนเองเป็นคนเดียวที่พูดถึงเรื่องนี้โดยมีประสบการณ์เคยเป็น ผบ.ตร.มาก่อน มีความรู้เรื่อง พ.ร.บ.ตำรวจ ทั้งยังเคยผ่านเหตุการณ์ในลักษณะใกล้เคียงกับเหตุการณ์นี้มาก่อนแล้ว ตนเองเคยถูกปลดมาก่อนในยุค นายสมัคร สุนทรเวช
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ระบุต่อไปว่า ผู้ที่เห็นว่าคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกจากราชการไว้ก่อนไม่ชอบด้วยกฎหมายเหมือนกันกับตน ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านกฎหมายทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. ซึ่งต่างจากผู้ออกความเห็นอีกฝั่งที่อาจไม่มีประสบการณ์ และความเข้าใจ
กฎหมายอีกหนึ่งฉบับที่ยังไม่มีใครพูดถึงเลย นั่นก็คือ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 36 วรรค 2 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ส่วนราชการที่ได้รับการเสนอแนะไม่เห็นชอบด้วยกับคำเสนอแนะของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาวินิจฉัย”
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นออกมาแล้วหลายเดือน แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ไม่ได้เสนอเรื่องต่อ ครม.แต่อย่างใด นั่นหมายความว่า ทั้ง สตช. และ นายกรัฐมนตรียอมรับกับคำแนะนำดังกล่าว ว่าผู้บังคับบัญชาจะสั่งพักราชการ หรือ ให้ออกจากราชการไว้ก่อน ต้องเป็นไปตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสอบสวน
จึงสรุปได้ว่า เพียงแค่ ก.พ.ค.ตร. พิจารณาจากกฎหมายข้อนี้ข้อเดียวก็ถือว่าจบ ว่าคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนถือว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากวินิจฉัยมาในทางตรงข้าม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็ต้องฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ภายใน 90 วัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาประมาณ 2-3ปี กว่าจะถึงที่สุด แต่ถึงอย่างไรก็ยังเหลืออายุราชการในการกลับมาดำรงตำแหน่งได้ หากคดีถึงที่สุดแล้ว พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นฝ่ายชนะ
แต่จะเป็นการเสียโอกาส เสียเวลา และต้องมีผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่ผู้ออกคำสั่งคือ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และอาจถูกฟ้องฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เนื่องจากถือว่ามีเจตนาพิเศษหรือไม่ เพราะเป็นรอง ผบ.ตร.เบอร์2
พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวต่อไปด้วยว่า หากต้องการให้ตนเป็นพยานให้ ถ้ามีการฟ้องร้องกันในศาลคดีทุจริตประพฤติมิชอบ ตนก็ยินดี ซึ่งทั้งก.ตร. ทั้งอนุกรรมการวินัยฯ หรือแม้แต่ ก.พ.ค.ตร. ก็อาจถูกฟ้องกลับด้วยทั้งหมด