กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยถึงการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สำหรับปี 2568 โดยนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ช่วงเวลานี้ ประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่ฤดูฝุ่นประจำปี โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ที่เป็นช่วงที่ค่าฝุ่นละอองในอากาศมักสูงกว่าปกติ ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยา คาดว่าปี 2568 สถานการณ์ฝุ่นอาจจะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังคงมีความเสี่ยงในช่วงเวลาวิกฤต
การคาดการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลจากองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA) ที่ระบุว่า ประเทศไทยจะเผชิญกับสภาวะ "ลานีญา" ในช่วงเดือนกันยายน 2567 ถึงมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้ปริมาณฝนในหลายพื้นที่สูงกว่าปกติสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ความรุนแรงของการเผาไหม้ชีวมวลและการลุกลามของไฟป่าลดลง ทำให้ฝุ่นละออง PM2.5 ลดลงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน 2567 ซึ่งคาดว่าจะมีมวลอากาศเย็นปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้สภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลปิด ส่งผลให้ฝุ่นละอองไม่สามารถกระจายตัวได้ดี ส่งผลให้ระดับฝุ่นสูงขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 24-27 ตุลาคม 2567
กรมควบคุมมลพิษจึงได้เตรียมมาตรการรับมืออย่างรอบด้านเพื่อควบคุมสถานการณ์ฝุ่นในปี 2568 โดยมาตรการเหล่านี้ครอบคลุมทั้งการป้องกัน การควบคุม การบริหารจัดการ และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ แผนปฏิบัติการแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับชาติ ระดับภาค และระดับจังหวัด ในระดับชาตินั้น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้มีการเห็นชอบมาตรการควบคุมฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจะดำเนินการผ่านหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นการบูรณาการมาตรการและการจัดการแบบเบ็ดเสร็จเพื่อให้ครอบคลุมทุกมิติในการแก้ไขปัญหา
ในระดับจังหวัดและท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง ทั้งจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง รวมไปถึงการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชน สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มาตรการหลักคือการควบคุมการระบายฝุ่นจากยานพาหนะที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล โดยกรมควบคุมมลพิษได้ร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครในการกำหนดมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เข้าสู่เขตเมือง โดยในช่วงเวลาวิกฤตจะมีการประกาศห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่บางส่วนของกรุงเทพมหานคร เพื่อบรรเทาสถานการณ์ฝุ่น
นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้ขนส่งสาธารณะ โดยกรมควบคุมมลพิษได้ประสานงานกับ ขสมก. เพื่อเร่งรัดการเปลี่ยนรถขนส่งมวลชนให้เป็นรถไฟฟ้า รวมถึงการลดค่าโดยสารในช่วงเวลาที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีมาตรการตรวจจับและปราบปรามการใช้รถยนต์ที่ปล่อยควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเข้มงวด
ในด้านการบริหารจัดการฝุ่นในเขตเมือง กรมควบคุมมลพิษยังได้ประสานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานท้องถิ่นในการตรวจสอบการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด รวมถึงการจับกุมผู้ที่ลักลอบเผาในพื้นที่ชุมชนและริมถนน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 สูงเกินมาตรฐานในหลายพื้นที่
นอกจากการควบคุมฝุ่นจากแหล่งกำเนิดในประเทศแล้ว ยังมีการจัดการปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษได้มีการหารือกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกันในการควบคุมและดับไฟในพื้นที่เกษตรกรรม รวมถึงส่งเสริมการผลิตและการค้าสินค้าเกษตรแบบไม่เผา เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองที่แพร่กระจายข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย
ในส่วนของมาตรการเชิงรุก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแผนที่เสี่ยงการเผา (Risk Map) เพื่อคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงและกำหนดจุดเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ทั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่เกษตร นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการและเฝ้าระวังไฟป่าขึ้นในหลายจังหวัด รวมถึงการจัดชุดดับไฟป่าที่พร้อมปฏิบัติการตลอด 24 ชั่วโมงในพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันการลุกลามของไฟและการเกิดฝุ่นละอองจากการเผา
ในด้านของเกษตรกรรม มาตรการในปี 2568 จะเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการเผาอ้อยและพืชเชิงเดี่ยวมากที่สุด กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นกับเกษตรกรที่ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเผา โดยเกษตรกรที่ไม่ร่วมมือจะถูกตัดสิทธิ์การช่วยเหลือจากภาครัฐรวมถึงอาจถูกเพิกถอนสิทธิการถือครองที่ดินในเขต ส.ป.ก.
ทั้งนี้ ในการดูแลสุขภาพประชาชน กรมควบคุมมลพิษยังได้เตรียมมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้ประชาชนป้องกันตนเองจากฝุ่นละอองด้วยการสวมหน้ากากอนามัยชนิด N95 ในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง พร้อมทั้งสนับสนุนการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) เพื่อช่วยลดการเดินทางและการเพิ่มปริมาณฝุ่นในช่วงที่เกิดวิกฤตฝุ่น PM2.5
กรมควบคุมมลพิษยังได้ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ติดตามสถานการณ์ฝุ่นละอองอย่างใกล้ชิด ผ่านแอปพลิเคชัน Air4Thai และแฟนเพจ ศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เพื่อรับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและสามารถวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสม
แม้สถานการณ์ในปี 2568 จะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่กรมควบคุมมลพิษยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวด เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากฝุ่นละออง PM2.5 ให้น้อยที่สุด และขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด