วันที่ 18 พฤศจิกายน 2567 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) ได้เปิดตัว "Zest Thailand/ Thailand-Japan Fast Track Pitch Event 2024" โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและเอกชนของไทยและญี่ปุ่น เช่น กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น (เมติ) กระทรวงพลังงานของไทย คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย
งานนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำคัญในการเชื่อมโยงองค์กรขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพ พร้อมเปิดพื้นที่ให้ทั้งสองฝ่ายสามารถพัฒนาโซลูชันและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาธุรกิจและตอบโจทย์ความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาวัสดุที่ยั่งยืน และการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ
ในงานเปิดตัวครั้งนี้ นายสุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวในงานว่า "การจัดกิจกรรมในครั้งนี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญในการสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยบีโอไอได้มีมาตรการใหม่ในการสนับสนุนสตาร์ทอัพที่มีศักยภาพสูงผ่านกฎหมาย Competitive Enhancement Act ซึ่งรวมถึงการสนับสนุนเงินทุน 20-50 ล้านบาท และการอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ"
"สตาร์ทอัพที่ได้รับสิทธิพิเศษต้องมีความร่วมมือจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่ออนาคต เช่น พลังงานสีเขียวและเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้ บีโอไอมีความตั้งใจที่จะเสริมสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านนวัตกรรมในภูมิภาคอาเซียน"
นายคุโรดะ จุน ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น สำนักงานกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) กล่าวว่า "Zest Thailand/ Thailand-Japan Fast Track 2024" ถือเป็นเวทีสำคัญที่ช่วยสร้างพันธมิตรระหว่างบริษัทญี่ปุ่นและไทย โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ซึ่งกำลังเป็นหัวข้อที่ได้รับความสนใจในระดับโลกพร้อมกอมล่าวถึงโครงการที่เจโทรริเริ่ม เช่น แคตาล็อกความยั่งยืนที่รวบรวมเทคโนโลยีสีเขียวกว่า 60 รายการ และการจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทไทยและญี่ปุ่น โดยที่ผ่านมาโครงการดังกล่าวได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมและความร่วมมือระหว่างสองประเทศในหลายด้านอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การนำเทคโนโลยีจับและแปรรูปคาร์บอนไดออกไซด์ และการพัฒนาวัสดุใหม่ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรม
สำหรับกิจกรรมในปีนี้ ได้รับความสนใจจากบริษัทชั้นนำทั้งไทยและญี่ปุ่น เช่น SCG, Toshiba และ Weathernews ซึ่งมุ่งนำเสนอโจทย์ทางธุรกิจที่ต้องการการแก้ไขด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย ตั้งแต่การพัฒนาระบบดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ไปจนถึงการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ในงานยังได้มีการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI และ IoT ในการออกแบบและจัดการพลังงาน รวมถึงการใช้วัสดุก่อสร้างที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
นายสุทธิเกตติ์กล่าวสรุปว่า ความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และเป็นการยืนยันว่าทั้งสองประเทศมีความพร้อมในการร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน