โพสต์บ่นนายจ้างแบบไหน "ถูก-ไม่ถูก" ไล่ออก กสร.มีคำตอบ

03 ต.ค. 2565 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2565 | 13:01 น.

ดูชัด ๆ ลูกจ้างโพสต์บ่นนายจ้าง แบบไหน อย่างไร เสี่ยงถูกเลิกจ้างโดยไม่ได้รับ "ค่าชดเชย" และ "สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า" กระทรวงแรงงาน มีคำตอบให้ คลิกอ่านที่นี่  

วันนี้การโพสต์ถ้อยคำต่าง ๆ ลงบนโซเชียลนั้นต้องมีความระมัดระวังอย่างมากเพราะสุ่มเสี่ยงในเรื่องของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล รวมถึงกระทบชื่อเสี่ยงของบุคคลนั้น ๆ ตามมาได้ สำหรับลูกจ้างหากยังไม่อยากถูกไล่ออกจากงานที่ทำอยู่ แนะนำให้หลีกเลี่ยงความสุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้หรือต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ถัอยคำที่จะส่งผลกระทบตามมา ทั้งนี้ จากกรณีที่มีข่าวเผยแพร่บนสื่อออนไลน์ว่า ลูกจ้างโพสต์บ่นนายจ้าง สามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นั้น 

 

ล่าสุด นายนิยม สองแก้ว อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) อธิบายพร้อมชี้แจงกรณีดังกล่าวโดยระบุว่า ทางกรมฯได้ตรวจสอบข้อมูลจากประเด็นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าได้นั้น มี 2 กรณีที่ต้องพิจารณา คือ  

1.ข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทนายจ้างจนได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือ  2.ข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายต่อกิจการ หรือไม่ 

 

ทั้งนี้ หากข้อความที่โพสต์เป็นข้อความที่เข้าข่ายหมิ่นประมาทนายจ้าง หรือจงใจให้นายจ้างได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 119 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กรณีนี้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง 

 

แต่หากข้อความที่โพสต์เป็นเพียงถ้อยคำที่ไม่สุภาพ ไม่ถึงกับเป็นการเสียดสี เหยียดหยาม หรือดูหมิ่นนายจ้าง จึงไม่ถือเป็นเรื่องร้ายแรง หากนายจ้างเลิกจ้าง โดยที่ไม่เคยตักเตือนลูกจ้างเป็นหนังสือก่อน นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้าง

นอกจากนี้ นายนิยม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า การที่จะเลิกจ้างลูกจ้างต้องดูความเหมาะสมแล้วแต่กรณี หากไม่ใช่การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อนายจ้าง แล้วนายจ้างกลับเลิกจ้างก็จะเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมได้ 

 

ทั้งนี้ นายจ้าง หรือลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาด้านแรงงาน สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัดหรือสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครทุกพื้นที่ หรือโทรสายด่วน 1506 กด 3 หรือ 1546