วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แนวทางปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำอย่างไร เช็คที่นี่

04 ต.ค. 2565 | 04:46 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 11:47 น.

วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แนวทางปฐมพยาบาลเบื้องต้นทำอย่างไร เช็คที่นี่มีคำตอบ หลังปัจจุบันยังมีการพบสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั่วประเทศ

วิธีป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าต้องทำอย่างไร เป็นประเด็นสำคัญในการปกป้องตนเอง หลังจากที่ปัจจุบันยังมีการพบสัตว์ที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั่วประเทศ และอาจมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการโดนสุนัข-แมว กัดหรือข่วน

 

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้ามีความรุนแรงหากได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า เมื่อติดเชื้อและแสดงอาการแล้วรักษาไม่หาย และเสียชีวิตทุกราย ซึ่งสาเหตุของการติดเชื้อพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ เกิดจากการถูกสุนัขหรือแมวกัด-ข่วน แล้วไม่ได้พบแพทย์ หรือเข้ารับฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างถูกต้อง  

 

ดังนั้นหากถูกสุนัขหรือแมวที่สงสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน เลีย น้ำลายกระเด็นเข้าทางตา ปาก หรือทางผิวหนังที่มีบาดแผล แม้แผลเล็กน้อย ควรรีบปฐมพยาบาล โดยล้างแผลทันทีด้วยน้ำและฟอกด้วยสบู่เบาๆหลายๆครั้ง เช็ดแผลให้แห้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อโพวีโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน 

 

จากนั้นควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้ครบโดส และควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ปัจจุบันการฉีดวัคซีนไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดคือ การป้องกันไม่ให้ถูกสัตว์กัด ข่วน หรือเลีย ไม่ว่าจะเป็นส่วนใดของร่างกาย ซึ่งอาจป้องกัน 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย  

 

  • ก่อนถูกกัด ใช้หลักการคาถา 5 ย. ป้องกันการถูกกัด ได้แก่ “อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง” คือ อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัขหรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ  

 

  • กรณีถูกกัด ให้รีบล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง ใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน และรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอย่างเหมาะสม รวมถึงกักขังสัตว์ที่กัด สังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งสัตว์ที่สงสัยตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ 

 

  • หลังจากถูกกัด ควรรับการฉีดวัคซีนป้องกัน "โรคพิษสุนัขบ้า" อย่างต่อเนื่องครบชุดตามเวลาที่แพทย์นัด ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะฉีดเพียง 4 – 5 ครั้งเท่านั้น

 

“ขอให้ประชาชนตระหนักถึงการป้องกัน โดยเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข-แมวอย่างถูกวิธี คุมกำเนิดด้วยการทำหมัน พาไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทุกปี เลี้ยงในบริเวณบ้าน อย่าปล่อยออกไปนอกบ้านโดยไม่ดูแลเพราะหากถูกหมาบ้ากัดก็อาจติดโรคพิษสุนัขบ้า รวมถึงเมื่อประชาชนถูกสุนัขแมวกัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักสุนัข 10 วัน จากนั้นให้รีบมาพบแพทย์เพื่อพิจารณาการการให้วัคซีน และต้องมาฉีดวัคซีนให้ครบตรงตามนัดทุกครั้ง” 

ส่วนอาการของโรคพิษสุนัขบ้า หลังจากรับเชื้อ ผู้ป่วยจะแสดงอาการเบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีไข้ อ่อนเพลีย ชา เจ็บเสียว หรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกกัด คันอย่างรุนแรงที่แผล ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว และกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เกร็ง เป็นอัมพาต หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด 

 

ข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง ควรนำสัตว์เลี้ยงของตนเองไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสัตว์เลี้ยงมีอายุ 2-3 เดือนขึ้นไป 2 เข็ม และฉีดวัคซีนเป็นประจำปีละ 1 เข็ม และหากพบเห็นสัตว์ที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคพิษสุนัขบ้า คือมีอาการหางตก เดินโซเซ น้ำลายย้อย ลิ้นห้อย ตาขวาง ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือผู้นำชุมชนทันที 

 

นอกจากนี้ การขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ไม่ปล่อยทิ้งให้เป็นสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ เป็นอีกวิธีที่ประชาชนสามารถช่วยแก้ปัญหาได้ รู้จักวิธีป้องกันไม่ให้สุนัขกัดหรือทำร้าย ด้วย คาถา 5 ย. จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า กรมควบคุมโรค ยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำจัดโรคพิษสุนัขบ้าให้หมดไปจากประเทศไทย และต้องขอความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า