กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ออกประกาศเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ระดับน้ำ เพิ่มสูงขึ้น โดยมีข้อความระบุว่า ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง แจ้งว่าได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง กอปรกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ ๔๗/๒๕๖๕ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2565 และหนังสือกรมชลประทาน ด่วนที่สุด ที่ กษ ๑๓๒๘/ว ๒๘๙๕ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2565 แจ้งว่า
จากการประเมินฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี ในช่วงวันที่ 3 - 9 ตุลาคม 2565 ประมาณ 449.90 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จากอัตรา 600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นอัตรา 800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
โดยจะทยอยเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งจะทำให้พื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักด้านท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ถึงเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 1-1.20 เมตร บริเวณท้ายเขื่อนพระรามหก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.40-0.60 เมตร
และจุดบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น 0.25-0.50 เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ในเกณฑ์ 3,300-3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้น
ประกอบกับลุ่มน้ำยมเกิดน้ำปาไหลหลาก และมีน้ำจากแม่น้ำปิงไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการลดผลกระทบน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จากจังหวัดชัยนาทถึงสมุทรปราการ จึงต้องจัดการบริหารน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 2,700-2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาบริเวณอำเภอเมืองชัยนาท และมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และอำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.3 เมตร และจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป
เพื่อให้การรับมือผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี ขอให้ดำเนินการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำเตรียมการพร่องน้ำในคลองสายหลักให้พร้อมรองรับปริมาณฝน
พร้อมประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมน้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ผู้บังคับเรือโดยสาร/เรือโยงขนส่งสินค้าหรือวัสดุ และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำตามริมแม่น้ำให้รับทราบล่วงหน้า โดยเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ เครื่องมือ และเครื่องจักร ให้มีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที