น้ำท่วมขังคลี่คลาย สทนช. คาด เข้าสู่ภาวะปกติกลาง พ.ย.นี้

23 ต.ค. 2565 | 10:40 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2565 | 17:34 น.

สทนช. อัพเดทสถานการณ์น้ำท่วมขังล่าสุด เผย หลังเร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน คาด จะเข้าสู่สภาวะปกติได้ช่วงกลางเดือน พ.ย. นี้

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดซึ่งส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ในขณะนี้ นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุด โดยยืนยันว่า สทนช.ยังคงเน้นย้ำการบูรณาการแก้ไขปัญหา โดยกำกับติดตามแก้ไขปัญหาอุปสรรคให้แก่หน่วยงานปฏิบัติภายใต้ กอนช. เพื่อระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังที่ได้เร่งระดมเครื่องจักรเครื่องมือ ใช้ทุกกลไกในการบริหารจัดการน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบอยู่ขณะนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งคาดว่าในช่วงกลางเดือน พ.ย.จะเข้าสู่สภาวะปกติ

 

จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีแนวโน้มปริมาณฝนลดลงและกำลังเข้าสู่ฤดูแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลางที่เขื่อนเจ้าพระยากำลังปรับลดการระบายน้ำ และพื้นที่ภาตะวันออกเฉียงเหนือ เขื่อนอุบลรัตน์ก็ลดการระบายน้ำเป็นขั้นบันได สถานการณ์อุทกภัยจะเริ่มคลี่คลายและเข้าสู่สภาวะปกติต่อไป 

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบปริมาณฝนภาพรวมปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 20 ต.ค.65 พบว่า สูงกว่าค่าปกติถึง 21% โดยสูงกว่าปี 2564 ปริมาณ 295 มิลลิเมตร (มม.) หรือ 17% แต่ต่ำกว่าปี 2554 เพียง 10 มม. หรือ 1%

 

โดยฤดูฝนปีนี้พบว่า ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านสูงสุด 3,105 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที) และมีน้ำจากลุ่มน้ำสะแกกรัง 659 ลบ.ม./วินาที ไหลมาสมทบรวมมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา 3,707 ลบ.ม./วินาที โดยได้มีการรับน้ำเข้าคลองฝั่งตะวันตกและตะวันออกรวม 538 ลบ.ม./วินาที

 

สำหรับเขื่อนเจ้าพระยาจะควบคุมระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ +17.50 เมตร.รทก. เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงตัวเขื่อน โดยระดับน้ำได้เพิ่มขึ้นสูงสุดอยู่ที่ +17.74 เมตร.รทก. จึงจำเป็นต้องเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท สูงสุด 3,180 ลบ.ม./วินาที เป็นปริมาณที่น้อยกว่าปี 2554 ซึ่งการระบายน้ำได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามมติคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) 

 

ขณะที่คันกั้นน้ำแนวเจ้าพระยาจะรองรับได้ที่อัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่อัตราไม่เกิน 2,500 ลบ.ม/วินาที จึงทำให้มีน้ำไหลล้นข้ามคันในบางจุด และคันกั้นน้ำเกิดการชำรุดในบางจุด รวมถึงเมื่อมีการระบายน้ำเพิ่มขึ้นเกิดน้ำไหลย้อนเข้าแม่น้ำน้อยซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลทำให้น้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำได้เช่นกัน

กรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตุว่าพื้นที่ที่ไม่เคยท่วมแต่ปีนี้เกิดปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นจากหลายพื้นที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป และมีการป้องกันโดยใช้คันดินต่างๆ เป็นที่กั้นน้ำท่วม ทำให้ทิศทางการไหลไม่เป็นธรรมชาติ

 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายตามลำดับ โดยคาดการณ์ว่า จะมีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่า 1,200 ลบ.ม./วินาที ในวันที่ 20-21 พ.ย.65 และจะต่ำกว่า 700 ลบ.ม./วินาที ในช่วงวันที่ 26-27 พ.ย.65 ตามลำดับ

 

ส่วนสถานการณ์น้ำไหลบ่าล้นแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตกลงทุ่งในพื้นที่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา ขณะนี้มวลน้ำกำลังเคลื่อนตัวผ่านเมืองอ่างทอง อ.โพธิ์ทอง อ.วิเศษชัยชาญ และ อ.สามโก้ จ.อ่างทอง มุ่งหน้าลงแม่น้ำน้อยและไหลไปทุ่งผักไห่ และทุ่งป่าโมกต่อไป

 

ทั้งนี้ ชุมชนต่างๆ ที่น้ำไหลผ่านได้เตรียมการป้องกันรับสถานการณ์น้ำหลากแล้ว ขณะที่สถานการณ์น้ำลุ่มน้ำชี-ลุ่มน้ำมูล ที่สถานี M.7 อำเภอเมืองอุบลราชธานี คาดว่าระดับน้ำจะลดเหลือสูงกว่าระดับตลิ่ง 3 เมตร ในวันที่ 2 พ.ย.65 และลดลงอย่างต่อเนื่องโดยคาดว่า วันที่ 13 พ.ย.65 จะยังคงสูงกว่าระดับตลิ่งเพียง 50 ซม. และวันที่ 16 พ.ย.65 จะลดลงเข้าสู่ระดับตลิ่ง

 

ขณะที่การสำรวจพื้นที่เสียหายจากภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างวันที่ 1-20 ต.ค.65 มีพื้นที่น้ำท่วมประมาณ 8.7 ล้านไร่ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมการเยียวยาประชาชนจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยเตรียมงบกลางจำนวน 6,000 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้ครัวเรือนละ 3,000 บาท จำนวน 2 ล้านครัวเรือนซึ่งยังไม่ได้รวมในส่วนการชดเชยเกษตรกรที่พืชผลและปศุสัตว์เสียหายเพิ่มเติมหลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการสำรวจความเสียหายตามหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงการคลัง