ปัญหาเรื่อง "ลิขสิทธิ์เพลง" เป็นที่กล่าวถึงในวงกว้าง โดยเฉพาะเมื่อศิลปินนักร้อง นักดนตรีที่มีชื่อเสียงโด่งดังจากผลงานเพลงในอดีต เมื่อย้ายสังกัดหรือเป็นศิลปินอิสระ จะไม่สามารถนำเพลงที่เคยโด่งดังในอดีตกลับมาร้องได้อีก เพราะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของค่ายเพลงหรือนักแต่งเพลงนั้นๆ
ที่ผ่านมามีศิลปินหลายคนได้รับผลกระทบจากปัญหาลิขสิทธิ์เพลง ไม่ว่าจะเป็นฟอร์ด – สบชัย ไกรยูรเสน , หนุ่ม กะลา และ ตั๊กแตน ชลดา เป็นต้น จนเป็นที่มาของคำว่า “ห้ามร้องเกิน 7 คำ” เพราะจะเข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมี 2 ลักษณะคือ
1.การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง ได้แก่ การทำซ้ำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมถึงการห้ามมิให้ดัดแปลง หรือเผยแพร่สิ่งบันทึกเสียง ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาต
2.การละเมิดสิทธิ์โดยอ้อม คือ การกระทำทางการค้าหรือการกระทำการที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์
ปัญหาลิขสิทธิ์เพลง จึงเรื้อรังยังหาข้อยุติไม่ได้ และเป็นอีกครั้งที่ถูกนำมาพูดถึงว่า ใครคือคนที่ถือลิขสิทธิ์กันแน่ และลิขสิทธิ์ที่ถืออยู่ในปัจจุบันสามารถจัดสรรปันส่วนและแบ่งกันอย่างเป็นธรรมจริงหรือไม่
ล่าสุดนายเรวัตร คงชาติ อดีตผู้สมัคร สก.เขตบางซื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค “กระรอก-เรวัตร คงชาติ” ถึงปัญหาลิขสิทธิ์เพลง หลังเข้าร่วมประชุมกับภาครัฐที่กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะกรรมการสมาคมการค้าและธุรกิจร้านอาหารกลางคืน โดยระบุว่า
ปัญหาลิขสิทธิ์เพลงเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ถูกถกเถียงกันมานานว่า ใครคือคนที่ถือลิขสิทธิ์กันแน่ และลิขสิทธิ์ที่ถืออยู่ในปัจจุบันสามารถจัดสรรปันส่วนและแบ่งกันอย่างเป็นธรรมจริงหรือไม่
วันนี้ผมในฐานะกรรมการสมาคมการค้าและธุรกิจร้านอาหารกลางคืน ได้เข้าร่วมประชุมกับภาครัฐที่กระทรวงพาณิชย์พร้อมทั้งภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์เพลง ไม่ว่าจะเป็นศิลปินนักแต่งเพลง ตัวแทนจากผู้ประกอบการลิขสิทธิ์เพลง เพื่อเข้าหารือในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์เพลงในปัจจุบันว่าเป็นธรรมจริงหรือไม่ แล้วเราจะจัดการแก้ไขปัญหาร่วมกันได้อย่างไร
นายอิทธิพล เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา นักประพันธ์เพลงชื่อดัง ที่มีเพลงฮิตมากมายได้เปิดประเด็นอย่างน่าสนใจว่าปัจจุบันปัญหาลิขสิทธิ์ที่เกิดขึ้น ค่อนข้างล้าหลังและไม่เป็นธรรม ทั้งกับตัวนักประพันธ์เพลงเองหรือแม้กระทั่งศิลปินที่เป็นผู้ขับร้องเพลง
ทั้งนี้กฎหมายลิขสิทธิ์ครอบคลุมและให้ประโยชน์เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ถือลิขสิทธิ์ไว้ นั่นก็คือเจ้าของค่ายเพลง โดยไม่มีการจัดสรรปันส่วนอย่างเป็นธรรมให้กับผู้ประพันธ์เพลงและยังมีปัญหาเรื่องการทับซ้อนของลิขสิทธิ์ว่าลิขสิทธิ์จริง ๆ ควรเป็นใครบ้างที่ถืออยู่
ในภาคส่วนของผู้ประกอบการร้านอาหารกลางคืนโดย “วีกฤษ อุ่นอนุโลม” รองนายกสมาคมการค้าธุรกิจร้านอาหารกลางคืน ได้พูดถึงปัญหาด้านลิขสิทธิ์ที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นการซ้ำซ้อนในส่วนของการจัดเก็บลิขสิทธิ์ที่มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้ามาทำการเก็บ รวมถึงในบางร้านค้าก็อาจจะเจอปัญหาในเรื่องของการล่อซื้อลิขสิทธิ์ มีช่องทางให้เกิดการคอรัปชั่นมากมาย
อีกทั้งราคาของตัวลิขสิทธิ์เพลงในปัจจุบันก็ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ มีการขึ้นราคาแบบก้าวกระโดดอีกทั้งยังมีการเอาเปรียบผู้ประกอบการ ทั้งในเรื่องของปัญหาการขายแพ็คลิขสิทธิ์พ่วงมากับศิลปินที่เล่นคอนเสิร์ตสำหรับค่ายเพลงใหญ่ ๆ
นอกจากนั้นความเห็นในส่วนของ “ธวัลรัตน์ อินทรจักร” ตัวแทนด้านกฎหมายจากบริษัท Music copyright Thailand (MCT) ได้ยกแง่มุมด้านกฎหมายในการจัดเก็บลิขสิทธิ์จากต่างประเทศที่น่าสนใจไว้ดังนี้ ในต่างประเทศมีการเก็บลิขสิทธิ์ที่ค่อนข้างเป็นระเบียบและเป็นธรรมให้กับทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน บริษัทเก็บลิขสิทธิ์มีเพียง 1-2 บริษัทเท่านั้น
ทำให้มีความชัดเจนและไม่สับสนว่าใครจะเป็นผู้เก็บลิขสิทธิ์รวมถึงบริษัทที่จัดเก็บลิขสิทธิ์เหล่านั้นก็ดำเนินการแบ่งปันประโยชน์ด้านลิขสิทธิ์ให้กับทุกภาคส่วนอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียงให้กับบริษัทค่ายเพลง แต่ตัวนักประพันธ์เพลงเอง รวมถึงร้านอาหารที่ซื้อลิขสิทธิ์ไปใช้ก็มีความสบายใจแล้วได้รับความยุติธรรมในเรื่องของกฎหมายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ
ทั้งนี้จากการประชุมพูดคุยกัน ผมได้เห็นด้วยในหลายประเด็นครับว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ให้ทันสมัยและชัดเจน ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่ วิ่งตรวจลิขสิทธิ์ตามร้านต่าง ๆ อยู่ประมาณ 30-40 ราย ซึ่งมีความซ้ำซ้อนกันอย่างมากในการจัดเก็บลิขสิทธิ์
ทั้งนี้ในเรื่องของความไม่ชัดเจนก็นำมาซึ่งปัญหาการคอรัปชั่น การเอื้อประโยชน์ให้กับทั้งบริษัทใหญ่ๆ ตำรวจหรืออิทธิพลมืดอื่นๆที่ตามมาเก็บลิขสิทธิ์กับทางร้านค้าร้านอาหารต่าง ๆ นอกจากนั้นกฎหมายลิขสิทธิ์ในปัจจุบันก็ไม่เอื้อให้เกิดความเป็นธรรมทั้งกับนักประพันธ์เพลงรวมถึงศิลปินผู้ขับร้อง
การนำแง่มุมที่ดีของกฎหมายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศเข้ามาปรับใช้ในการแก้ พรบ.ลิขสิทธิ์ในปัจจุบันจึงจำเป็นอย่างมาก ต้องจัดทำอย่างเร่งด่วน รวมถึงให้ทันสมัยกับรูปแบบลิขสิทธิ์เพลง และเทคโนโลยีในปัจจุบัน
มีการนำเสนอในที่ประชุมว่า พรบ. ฉบับใหม่ที่ทำการร่าง ควรจะจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมา 1 หรือ 2 องค์กรเพื่อดูแลลิขสิทธิ์เหล่านี้โดยเฉพาะ ไม่ใช่มีองค์กรหลายสิบองค์กรที่วิ่งแสวงหาประโยชน์ด้านลิขสิทธิ์อย่างในปัจจุบัน และองค์กรที่จัดตั้งขึ้นต้องเป็นองค์กรอิสระที่จัดสรรปันส่วนในเรื่องของผลประโยชน์ให้กับทั้งค่ายเพลง นักแต่งเพลง ศิลปิน
รวมถึงผู้ประกอบการที่ซื้อลิขสิทธิ์นำไปใช้ การมีพรบ.ลิขสิทธิ์ที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย จะเป็นการขับเคลื่อนธุรกิจบันเทิง ธุรกิจเพลงรวมถึงผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างถูกต้องเป็นธรรมและยั่งยืนต่อไปในอนาคต