จาก "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" สู่ “ทุนจีนสีเทา” ใครอยู่เบื้องหลัง ?

06 ธ.ค. 2565 | 04:13 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ธ.ค. 2565 | 13:43 น.

จาก "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" สู่ “ทุนจีนสีเทา” ที่สังคมให้ความสนใจว่าเเท้จริงเเล้ว ใครกันเเน่ที่อยู่เบื้องหลัง ?

เป็นเรื่องที่สังคมจับตาและให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง สำหรับ “ทุนจีนสีเทา ที่เข้ามาหากินในประเทศไทยร่ำรวยอู้ฟู่ เป็นล่ำเป็นสัน ทำให้ตำรวจไทยเปิดยุทธการทลายผับและแหล่งการพนันที่เชื่อว่ามีมาเฟียจีนอยู่เบื้องหลัง

สืบสาวไปจนถึง ตัวการสำคัญคือ ตู้ห่าว หรือ นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ ได้รับสัญชาติไทยหลังจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย ซึ่งเป็นตำรวจหญิง มีศักดิ์เป็นหลานอดีตนายตำรวจยศชั้นนายพล และเป็นนักการเมืองรัฐบาลในอดีต

 

การกวาดล้างกลุ่มนี้ยังคงเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง มีการยึดทรัพย์สินได้จำนวนมาก ทั้งเครื่องบินส่วนตัว และการเชื่อมโยงถึงคนไทยที่เป็นมอมินี  ตำรวจยืนยันว่าไม่มีมวยล้มต้มคนดูแน่นอน

ธุรกิจจีนอิทธิพลจีนแผ่มาประเทศไทยนานแล้ว แต่จากประเด็นทุนจีนสีเทาในตอนนี้ ทำให้พอจะนึกชื่อของ  "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" ทัวร์ผิดกฎหมาย ที่สร้างปัญหาใหญ่ฝังรากลึกแทรกซึมทุกวงการกลับมาอีกครั้ง  ประเด็นนี้เกิดขึ้นกระแสเมื่อปี 2559 สร้างปัญหาให้กับการท่องเที่ยวไทย ว่ากันว่าสูญเสียรายมหาศาล แถมยังเสี่ยงที่นักท่องเที่ยวจีนจะหายไปที่มีมากกว่า 100 ล้านคน


แต่น่าสงสัยว่าคดีทัวร์ศูนย์เหรียญไม่สามารถเอาผิดธุรกิจสีเทาได้ และกลุ่มนายทุนจีนสีเทาที่อยู่ในเป้าหมายการจับกุมครั้งนี้ ก็คือกลุ่มเดียวกับทัวร์ศูนย์เหรียญ

 

พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล  ผบก.ทท. ในขณะนั้น เป็นหัวหน้าชุดจับกุม ปราบปรามเครือข่ายผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวที่ทำลายระบบการท่องเที่ยวไทย สนองนโยบายของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีมติ ห้ามบริษัททัวร์ ขายทัวร์ในราคาต่ำกว่าต้นทุน ตั้งราคาทัวร์ขั้นต่ำที่ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน กำหนดราคารายการนำเที่ยวเสริม ไม่เกิน 3,000 บาทต่อทริป เพื่อป้องกันการโก่งราคาทัวร์

 

การขยายผลจับกุมเครือข่ายทัวร์ศูนย์เหรียญรายใหญ่ที่ กทม. บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด

 

โดยหลังจากที่เครือข่ายบริษัท โอเอทรานสปอร์ต ถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่กระทำการอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และฟอกเงิน เมื่อกันยายน 2559 กระทั่งช่วงปี 2560 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และศาลฎีกายกฟ้อง "ทัวร์ศูนย์เหรียญ" ชี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจให้เกิดความเสียหายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือ ประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยว

 

จากนั้นทางฝั่งโอเอ ก็มีการแจ้งจับ 2 นายตำรวจ รับผิดชอบคดี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”ในฝั่งของ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ หักพาล ฐานปฏิบัติปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-กล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ กระทบต่อเชื่อเสียงธุรกิจของครอบครัว

 

แหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ระบุว่า กลุ่มโอเอ ที่เคยถูกจับเรื่องทัวร์ศูนย์เหรียญ และอีกหลายคดีที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เมื่อช่วงปี 2561 ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มตู้ห่าว มินำซ้ำยังโดนรังแกจากกลุ่มตู้ห่าว ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ ทั้งยังระบุอีกว่า เรื่องนี้มีนายตำรวจใหญ่ นักการเมืองชื่อดัง เป็นเครือข่ายเดียวกันที่ต้องการแย่งลูกค้าในธุรกิจท่องเที่ยวมาเป็นฝั่งของตนเอง 

 

เป็นที่น่าสังเกตุว่าบริษัทในเครือข่ายกลุ่มตู้ห่าว ที่ทำธุรกิจที่คล้ายกับกลุ่มโอเอ หลังจากมีการดำเนินคดีกับกลุ่มโอเอ ธุรกิจของกลุ่มตู้ห่าว ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด

 

ทัวร์ศูนย์เหรียญ คืออะไร 

เกิดขึ้นเมื่อประเทศจีนเริ่มนโยบายเปิดประเทศและอนุญาตให้คนจีนเดินทางไปต่างประเทศได้ในช่วงแรกคนจีนไปเที่ยวต่างประเทศจำนวนประมาณ 6,000,000 คนและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวในรูปแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ

 

ทัวร์ศูนย์เหรียญ หมายถึงคณะนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยวในประเทศตนเอง ในราคาที่ต่ำกว่าต้นทุน จากนั้นบริษัทนำเที่ยวจะส่งคณะนักท่องเที่ยวมาให้บริษัทนำเที่ยวในประเทศไทย โดยที่ไม่ต้องจ่ายค่าทำเนียมการนำเที่ยว

 

การดำเนินธุรกิจในรูปแบบทัวร์ศูนย์ เหรียญจะกำหนดราคาโปรแกรมท่องเที่ยวต่ำกว่าต้นทุนเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวสนใจซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยว จากนั้นบริษัทเครือข่ายจะหากำไรจากนักท่องเที่ยวโดยการพานักท่องเที่ยวไปซื้อสินค้าที่ร้านค้าเครือข่ายในราคาที่สูงเกินจริง