อสส.ยกระดับ “คดีตู้ห่าว” เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

14 ธ.ค. 2565 | 12:00 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2565 | 19:10 น.

อสส.ตั้งคณะทำงานพิจารณา ยกระดับ “คดีตู้ห่าว” เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ค้ายา ฯ เป็นผู้มีอิทธิพล กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ

อัพเดทความคืบหน้าการสืบสวนทุนจีนสีเทา ล่าสุด มื่อวันที่ 14 ธ.ค. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า วันนี้ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด(อสส.) ลงนามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุด ที่ 2167/2565 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2565  เรื่อง แต่งตั้งคณะทำงานกำกับการสอบสวนและการดำเนินคดีสำคัญ โดยเนื้อหาสาระสำคัญคำสั่งดังกล่าวระบุว่า

คณะพนักงานสืบสวนสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินคดีอาญากับ นายชัยณัฐร์ หรือตู้ห่าว กรณ์ชายานันท์  นักธุรกิจชาวจีนกับพวก ผู้ต้องหา ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ ประเภท 1 (ยาอี, เฮโรอีน) , ร่วมกันจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 , สมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดและสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด, ร่วมกันเปิดสถานบริการโดยไม่ได้รับอนุญาตและยินยอมหรือ ปล่อยปละให้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดภายในสถานบริการ

 

 

และมีส่วนร่วมในองค์กร อาชญากรรมข้ามชาติ  อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่ง แต่งตั้งพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจเป็นคณะทำงานและมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการ

คณะทํางานดังกล่าวประกอบด้วยดังนี้

1.อัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคณะทํางาน

2.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน

3 นายสมเกียรติ คุณวัฒนานนท์ รองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะทํางาน

4.ร.ต.ท.อุทัย อาทิเวช รองอัยการสูงสุด เป็นคณะทํางาน

 5.นายศุภชัย นิพิธกุล ที่ปรึกษาอัยการสูงสุด เป็นคณะทํางาน

6.เลขานุการอัยการสูงสุด เป็นคณะทํางาน

7.อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอัยการสูงสุดเป็น คณะทํางาน

8.ผู้บัญชากาตำรวจนครบาล เป็นคณะทำงาน

9.อธิบดีอัยการ สํานักงานการสอบสวนเป็นคณะทำงานและเลขานุการ

 

มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

  1. กำกับและติดตามการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน ในคดีนี้ให้เป็นไปด้วยความละเอียดรอบคอบ
  2. เร่งรัดการสอบสวนและการส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้ทันภายในกรอบ ระยะเวลาในการควบคุมฝากขังผู้ต้องหาตามกฎหมาย ทั้งนี้ ให้มีระยะเวลาพอสมควรเสนอให้อัยการสูงสุด พิจารณาสั่งคดี
  3. แต่งตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยให้เลขานุการคณะทำงานรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำสั่งนี้ ให้อัยการสูงสุดทราบเป็นระยะ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 14 ธ.ค.2565

 

หนังสือคำสั่งดังกล่าวมาจากกรณีที่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.65 พล.ต.ท. ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.รายงานข้อมูลผู้กระทำผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ถึง อัยการสูงสุด 

 

โดยเอกสารระบุพฤติการณ์ผู้ต้องหาว่าได้ร่วมกันกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร (ชักชวนลูกค้าต่างชาติ) อันถือว่า เป็นความผิดตามพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การกระทำของผู้ต้องหาทั้งหมดเป็นคณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้น ไปที่รวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่ง ร่วมกันกระทำผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ

 

มีวัตถุประสงค์เพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงินและทรัพย์สิน โดยกระทำผิดในเขตแดนมากกว่าหนึ่งรัฐ เป็นองค์กรอาชญากรรมที่กระทำความผิดในราชอาณาจักรไทย แต่มีการตระเตรียม วางแผน สั่งการ สนับสนุน หรือ ควบคุมการกระทำผิดในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีส่วนร่วม กระทำการใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในกิจกรรมหรือการดำเนินการขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ

 

โดยรู้ถึงวัตถุประสงค์และการดำเนินกิจกรรมหรือโดยรู้ถึงเจตนาที่จะกระทำความผิดร้ายแรงขององค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ มีความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พรบ.ป้องกันและปราบปรามการมี ส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 พบการกระทำความผิดบางส่วนในราชอาณาจักรไทย และบางส่วนนอกราชอาณาจักรไทย (ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศกัมพูชา) เข้าเงื่อนไขตามความผิดตามกฎหมายที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย ตามมาตรา 20 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาราชการแทนเป็นพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบหรือจะมอบหมายหน้าที่ นั้นให้พนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนได้

 

เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีที่สำคัญและมีกรอบระยะเวลาตามกฎหมาย จึงขอให้พนักงาน สืบสวนสอบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจในการสอบสวนคดีไปพลางก่อนตามกฎหมายต่อไป