ย้อนรอย “แจ๊ค หม่า” หายไปไหนมา หลังโผล่เยือนไทย

07 ม.ค. 2566 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ม.ค. 2566 | 12:17 น.

ย้อนรอย “แจ๊ค หม่า” หายไปไหนมา หลังโผล่เยือนไทย บริษัทแอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ของเขาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่

สร้างความฮือฮาสำหรับ “แจ๊ค หม่า” (Jack Ma) มหาเศรษฐีชาวจีนผู้ก่อตั้งอาลีบาบา บริษัทอีคอมเมิร์ซชื่อดัง เดินทางมาเมืองไทย ทั้งเข้าไปชมมวยที่สนามมวยราชดำเนิน ตั้งท่าออกหมัด แถมยังเจอกับ “บัวขาว บัญชาเมฆ” นั่งชมมวยไทยในโซนวีไอพีเเบบชิวๆ รวมทั้งไปรับประทานอาหารที่ร้านชื่อดังระดับมิชลินของไทยอย่าง “เจ๊ไฝ” สตรีทฟู้ดหนึ่งเดียวที่ได้รับ 1 ดาวมิชลิน  

 

เรื่องนี้เกิดขึ้นเพียง 2 วัน หลังหน่วยงานกำกับดูแลของจีนอนุมัติแผนระดมทุนมูลค่า 1.05 หมื่นล้านหยวน (1.5 พันล้านดอลลาร์) ของบริษัท แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) บริษัทเทคโนโลยีการเงินของมหาเศรษฐีแจ็ค หม่า สำหรับธุรกิจผู้บริโภคของบริษัท ส่งสัญญาณความคืบหน้าในการยกเครื่องแอนท์ กรุ๊ปตามคำสั่งของรัฐบาลจีน 

 

ก่อนหน้านี้มีคำถามมากมายว่า "แจ็ค หม่า หายไปไหน?" หลังมีคนสังเกตว่าเขาหายหน้าหายตาไปจากพื้นที่สาธารณะนานกว่าครึ่งปี อีกทั้งยังไม่ได้ไปปรากฎตัวในรายการ "Africa’s Business Heroes" เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทั้งที่เขาต้องเป็นกรรมการตัดสินในตอนสุดท้าย แต่มีคนไปแทน 

 

รายงานของสื่อต่างประเทศ ระบุว่า แจ็ค หม่า ไปอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังมีรายงานด้วยว่าเขาได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา และอิสราเอลเป็นประจำ หลังจากที่เจ้าตัวและบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำในจีน รวมถึงนักธุรกิจคนดังถูกรัฐบาลจีนปราบปรามอย่างหนัก

 

โดยแจ็ค หม่า หายไปจากพื้นที่สื่อเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว นับตั้งแต่ที่วิจารณ์ทัศนคติของหน่วยงานกำกับดูแลในจีน เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2565 แจ็ค หม่า ขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับการเงินที่เซี่ยงไฮ้ วิพากษ์วิจารณ์ระบบตรวจสอบของจีนว่าเป็นการขัดขวาง และหยุดยั้งการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมทั้งบอกว่าข้อตกลงในการกำกับดูแลด้านการธนาคารที่ออกโดย Basel Committee on Banking Supervision เเละยังเปรียบธนาคารจีนเป็นโรงรับจำนำ จนทำให้เจ้าตัวต้องถูกรัฐบาลจีนปรับทัศนคติ และหายตัวไปเป็นเวลาหลายเดือน ส่งผลให้บริษัทย่อยด้านการเงินอย่าง Ant Group ที่รอเข้าตลาดหลักทรัพย์ต้องถูกยกเลิก

 

Ant Group หรือเดิมคือ Ant Financial ถือหุ้นโดย Alibaba ให้บริการช าระเงินผ่านแอป Alipay ที่คนจีนคุ้นเคย ด้วยส่วนแบ่งถึง 54.9% ในประเทศจีน มีจำนวนผู้ใช้บริการถึง 1 พันล้านรายทั่วโลกและมีมูลค่าธุรกรรมต่อปีถึง 15 ล้านล้านดอลลาร์ (470 ล้านล้าน บาท) รายได้ปีล่าสุด 120.6 พันล้านหยวน (560,000 ล้านบาท) เติบโตปีละ 40% 

 

ข้อมูลอ้างอิง : scmp , bloomberg , businessinsider