วันที่ 11 มกราคม 2566 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณากรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษาในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ตามที่สภานโยบายฯ เสนอ
โดย ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณด้านการอุดมศึกษา จำนวน 114,970,403,419 บาท และกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. จำนวน 31,100,000,000 บาท เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น 146,070,403,419 บาท มุ่งเป้าจัดสรรงบประมาณเพื่อตอบโจทย์สำคัญและเร่งด่วนของประเทศ
โดยเฉพาะการขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี ทั้งด้านการแพทย์และสุขภาพ ด้านเกษตรและอาหาร เศรษฐกิจฐานรากเพื่อขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำ อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับทุนทางวัฒนธรรม การผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล
ในส่วนของแผนงานสำคัญภายใต้กรอบวงเงินด้าน อววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในด้านการอุดมศึกษา มุ่งเน้นการผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนที่รองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (life-long learning) ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อการพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย
1.การผลิตบัณฑิตในระบบอุดมศึกษา ในระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา โดยมีเป้าหมายการพัฒนากำลังคนเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 415,525 คน
2.การผลิตกำลังแรงงานในหลักสูตรระยะสั้น (non-degree Program) ที่เปิดโอกาสประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีคุณวุฒิระดับมัธยมศึกษาหรืออุดมศึกษาสามารถพัฒนาความรู้ในทักษะเดิม (reskill) การยกระดับทักษะเดิม (upskill) และการเพิ่มพูนทักษะใหม่ (new skill) จำนวนไม่น้อยกว่า 25,000 คน
และ 3.การพัฒนากำลังคนตลอดช่วงชีวิต ที่เปิดโอกาสให้ประชากรอายุ 25 ปีขึ้นไป สามารถรับการศึกษาทั้งในระบบ degree program และ non-degree program
นอกจากนี้ ยังมีโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (reinventing university) เพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงที่มีทักษะรองรับอุตสาหกรรมและบริการใหม่แห่งอนาคตที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาวิสาหกิจชุมชนและระบบเศรษฐกิจฐานราก
ตลอดจนการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามอัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญ ดำเนินการตามกลไกการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยใน 5 แพลตฟอร์ม ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน การพัฒนาแสวงหาบุคลากร ความเป็นนานาชาติ การบริหารงานวิจัยและนวัตกรรม และการสร้างแพลตฟอร์มความร่วมมือ
ในด้าน ววน. ประกอบด้วย 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่
1. การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ได้แก่ การพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (advanced therapy medicinal products: ATMPs) การพัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวโดยใช้แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นคุณค่า สร้างความยั่งยืน และเพิ่มรายได้ของประเทศ พัฒนาและส่งเสริมให้ประเทศเพิ่มธุรกิจฐานนวัตกรรม (innovation-driven enterprises: IDEs)
การเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกชั้นนำของโลกด้าน functional ingredients, functional food และ novel food การเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน เป็นต้น
2.การยกระดับสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อการพึ่งพาตนเองและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ประเทศไทยสามารถยกระดับการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ การพัฒนาผู้สูงอายุในชนบทและเมืองให้มีศักยภาพในการพึ่งพาตนเอง มีคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สังคม เป็นต้น
3.การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต ได้แก่ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ (earth space technology) โดยสามารถสร้างดาวเทียมที่วิจัยและพัฒนาโดยคนไทยและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ เป็นต้น
4.การพัฒนากำลังคน สถาบันอุดมศึกษา และสถาบันวิจัยให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน ได้แก่ ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของกำลังคนระดับสูง (hub of talent) และศูนย์กลางการเรียนรู้ (hub of knowledge) ของอาเซียน เป็นต้น
ทั้งนี้ กรอบงบประมาณด้าน อววน. ที่เสนอ ครม. ในครั้งนี้ ได้ผ่านการเห็นชอบจากการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา